‘หัวหน้าพรรคเพื่อไทย’ เผยคณะทำงาน 23 ชุดอยู่ระหว่างคัดเลือก คาดวันที่ 6 มิ.ย. 66 ชัดเจนใครจะมาเป็นบ้าง ชี้ไกลไปจะสรุปว่าเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ส่วนกรณี ‘ประยุทธ์’ เตือนอย่าเรียกข้าราชการไปให้ข้อมูลถือเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว ขณะที่การสรรหาประธานรัฐสภามีแคนดิเดตหลายคน แต่ต้องรอ ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ สรุปร่วมกันก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จากกรณีที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน และคณะทำงานเพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาของประชาชน 7 คณะ ประกอบด้วย ด้านค่าไฟฟ้า น้ำมัน และพลังงาน, ด้านภัยแล้ง, ด้านชายแดนใต้, ด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น pm 2.5, ด้านเศรษฐกิจปากท้อง และด้านการแก้ปัญหายาเสพติดนั้น
- 'พิธา' ปธ.! มติ 8 พรรค ตั้งคกก.ประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน - ผุด 7 คณะฯแก้ปัญหา ปชช.
- ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกังวล! พิธา:ตอบปมหุ้น ITV 42,000 หุ้น ปี 51-66 ไม่ระบุ ‘ผจก.กองมรดก'
ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า รายชื่อคณะทำงานทั้ง 7 ชุด จะมีการคัดสรรกันในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. 2566 นี้ ที่พรรคเพื่อไทย และจากที่ได้แถลงไปว่า มีคณะทำงานทั้ง 23 ชุดนั้น ก็คาดว่าในวันที่ 6 มิ.ย. 2566 น่าจะได้รู้กันครบทั้ง 23 คณะ
เมื่อถามว่า บุคคลที่จะมาเป็นคณะทำงานทั้ง 23 ชุดสามารถสะท้อนได้ไหมว่า อาจจะเป็นรัฐมนตรีในอนาคต นพ.ชลน่านตอบว่า เร็วเกินไปที่จะมองแบบนั้น เพราะคณะทำงานทั้ง 23 ชุดจะเป็นการเชิญบุคคลภายในพรรคทั้ง 8 พรรคที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านมาสรุปปัญหาต่างๆ และจัดทำเป็นข้อเสนอรองรับไว้ เพื่อให้เวลามีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา จะได้นำข้อเสนอเหล่านี้มาประยุกต็ใช้ได้ ส่วนโควต้ารัฐมนตรี ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกันของทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมาปรามว่าไม่ควรเชิญข้าราชการไปให้ข้อมูล เพราะรัฐบาลปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่นั้น นพ.ชลน่านมองว่า ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ พล.อ.ประยุทธ์ เตือนมา เพราะการเรียกข้าราชการไปให้ข้อมูล จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการก่อน และตามกฎหมาย หากอยู่ๆไปเรียกข้าราชการมาให้ข้อมูล อาจจะผิดกฎหมายเรื่องการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ หากกรณีข้าราชการเป็นฝ่ายที่อยากมาให้ข้อมูลในนามส่วนบุคคล ก็เป็นเรื่องหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แล้วประเด็นการตั้งประธานรัฐสภาที่บทสรุปออกมาเป็นพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเป็นผู้หารือร่วมกันนั้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า ได้ข้อสรุปร่วมกันจากการพูดคุยวานนี้ (30 พ.ค. 2566) ที่พรรคประชาชาติ จริงๆแล้ว ภายในพรรคก็มีกระแสข่าวที่อยากให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ หลังจากพรรคก้าวไกลได้เป็นประมุขฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งก็ได้นำไปหารือร่วมกัน จนพรรคก้าวไกลเสนอว่า เรื่องการจัดตั้งประธานรัฐสภาควรจะต้องหารือกันให้รอบคอบ โดยให้เป็นอำนาจพิจารณาร่วมกันของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งในที่ประชุมก็เห็นด้วยกันหมด
ส่วนแคนดิเดตบุคคลที่จะมาเป็นประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า มีหลายคน แต่ขอไม่เปิดเผย