ศธ.เผยปี 2565 นักเรียนออกจากการศึกษากลางคันพุ่งทะลุแสน ปมยากจนแท้จริง เหตุต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน เตรียมเร่งปรับรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหาร ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ได้เน้นย้ำให้องค์กรหลักที่มีสถานศึกษาในสังกัดเน้นเรื่องคุณภาพของผู้เรียน โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเรื่องการจัดการศึกษา ตามแนวทางของที่ประชุมระดับรัฐมนตรี และผู้บริหารนโยบายด้านการศึกษาระดับนานาชาติ The Education World Forum (EWF) ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงด้านนโยบายการศึกษา และพัฒนาทักษะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ให้มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาผู้เรียน จัดทำแผนการเรียนรู้เฉพาะบุคคลให้ได้เรียนตามความถนัดและสนใจ ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนแบบใหม่ รวมถึงส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้ระหว่างเรียน โดยพยายามให้สถาบันการศึกษาเลือกสถานประกอบการให้นักเรียน นักศึกษา ได้ฝึกประสบการณ์ในหน่วยงานที่ตรงกับสาขาที่เรียน
“แนวทางการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพลักษณ์ดังกล่าวไม่ได้เน้นเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และการศึกษาเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มโฮมสคูล หรือการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน ขอให้องค์กรหลักไปกำกับดูแลสถานศึกษาของตนเอง โดยมีศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และผู้ตรวจ ศธ.เป็นกลไกลงไปช่วยประสานงานในพื้นที่” นายอรรถพลกล่าว
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดพบปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์ หรือเด็กออกกลางคันที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตลอดปี 2565 พบว่ามีอยู่กว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ครอบครัวยากจนอย่างแท้จริง แม้จะกลับเข้าเรียนตามโครงการพาน้องกลับเข้าเรียนแล้ว แต่พอเรียนไปไม่นานก็ออกจากระบบการศึกษาอีก เพราะมีปัญหาเรื่องปากท้อง ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน จึงมอบหมายให้ ศธจ.ไปดูรายละเอียด และหารูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนแต่ละบุคคล เพราะการเรียนในรูปแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ดังนั้น จึงต้องปรับวิธีการเรียนการสอน เช่น บางคนมีเวลาเรียน 2 วันต่อสัปดาห์ ที่เหลืออาจจะต้องไปใช้วิธีการอื่นเพื่อจูงใจให้ได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยอาจจะเน้นในเรื่องการเรียนเพื่อมีงานทำ สร้างรายได้
“ตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์ 1 แสนราย เป็นตัวเลขเด็กออกกลางคันตลอดทั้งปี 2565 ส่วนใหญ่เพราะมีปัญหาความยากจน ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน แม้โครงการพาน้องกลับมาเรียนเป็นนโยบายที่ดีแต่ต้องปรับวิธีการ เพราะเด็กอาจไม่อยากเรียนรู้ในรูปแบบเดิม วิธีการเรียนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน 100% โดยอาจหาวิธีที่เหมาะสมในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดหลักสูตรระยะสั้น เรียนร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน เปิดให้มีการเทียบโอนหน่วยกิต เป็นต้น” นายอรรถพลกล่าว