เร่งเยียวยาเด็ก 9 คนหลังถูกทำร้ายร่างกายในสถานสงเคราะห์ จังหวัดสระบุรี พี่เลี้ยงโหดรับสารภาพทำจริง จนท.รวบรวมหลักฐานเอาผิด ด้าน พม.จ่อรื้อระบบสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีที่ตำรวจ สภ.พระพุทธบาท เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสระบุรี ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเรื่องราวที่โซเชียลมีเดีย แฉว่าพี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์ทำร้าย และทารุณเด็ก ด้วยวิธีการจับขังห้องมืด ทุบตี และลงโทษเด็กอย่างโหดร้าย โดยได้ส่งทีมสหวิชาชีพ ที่มีอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ พม. นักจิตวิทยา พูดคุยกับเด็กที่ถูกพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกาย ซึ่งเด็กเรียกว่า แม่ เด็กจะมีคำเรียกการลงโทษว่าโดนลงหลุม ก็คือกดเด็กลงท่อน้ำทิ้ง น้ำคร่ำ โดนบังคับให้นอนให้ห้องน้ำ มัดมือ มัดเท้า และปิดปาก
โดย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีคำสั่งย้ายผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กหญิง จังหวัดสระบุรี ไปปฏิบัติราชการที่ส่วนกลาง และให้เลิกจ้างพี่เลี้ยงที่ก่อเหตุ พร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีอาญาเอาผิดอย่างถึงที่สุด โดยจะปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย และฟื้นฟูเยียวยาจิตใจเด็กที่ถูกทำร้ายรวม 9 คน
ทั้งนี้ นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้สั่งการให้หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว และสถานรองรับเด็กของกรมกิจการเด็กและเยาวชนทุกแห่ง ในฐานะผู้ปกครองสวัสดิภาพเด็ก กำกับดูแลให้ดำเนินการตามนโยบายคุ้มครองเด็กโดยเคร่งครัด โดยหากพบหัวหน้าหน่วยหรือเจ้าหน้าที่เพิกเฉย ละเลยไม่ปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองเด็ก จะดำเนินการทางวินัยและทางกฎหมาย เพื่อให้เด็กในความดูแลได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผบก.ภ.จว.สระบุรี ประชุมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ว่าตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบเด็กทั้ง 9 โดยมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ อัยการ ตำรวจร่วมสอบ พร้อมบุคคที่เกี่ยวข้อง พร้อมเก็บพยานหลักฐานทางกล้องวงจรปิด ส่วนผู้ก่อเหตุทางเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนไปแล้วเมื่อวานนี้
โดยยอมรับสารภาพว่าเป็นคนก่อเหตุจริง และเสียใจที่มีแนวความคิดแบบนั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อออกหมายจับ ซึ่งจะต้องดูว่าความผิดอยู่ในขั้นไหน ส่วนข้อกล่าวหาทางเจ้าหน้าที่ยังได้ตั้งไว้
เบื้องต้นจะต้องตรวจสอบดูว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กหรือไม่ อาจเข้าข่ายผิดในมาตรา 309 ซึ่งผู้ก่อเหตุจะต้องถูกดำเนินคดีแน่นอน และยอมรับสารภาพกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ส่วนเด็กทั้ง 9 คนขณะนี้พักอยู่บ้านพักเด็กและสตรี ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ คอยดูแลเยียวยาทางด้านจิตใจ
ด้าน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงกรณีเด็กถูกกระทำความรุนแรงในสถานสงเคราะห์เด็ก ที่จังหวัดสระบุรี ว่า ตนต้องขอโทษที่ทำให้สังคมไม่สบายใจ โดยได้สั่งการเพื่อเร่งแก้ปัญหาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว และด้วยความห่วงใยในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็ก จึงให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลเด็ก มาตรการลงโทษเด็กของพี่เลี้ยง
"ขอยืนยันว่า กระทรวง พม. จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส ไม่มีการปกปิดใดๆ และทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาดูการตรวจสอบได้" นายจุติ ระบุ
พม.เตรียมรื้อระบบสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเด็กถูกกระทำความรุนแรงในสถานสงเคราะห์เด็ก ที่จังหวัดสระบุรี ว่า ขณะนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้สั่งการให้พี่เลี้ยงที่กระทำความรุนแรงกับเด็กหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดี ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงรวบรวมข้อมูลจากเด็ก 169 คน ที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงประมาณ 9 คน มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และได้คัดแยกกลุ่มเด็กดังกล่าวออกจากพื้นที่มาอยู่ในความดูแลชั่วคราวของบ้านพักเด็กและครอบครัวในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อคลายความวิตกกังวล อีกทั้งได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเข้าประเมินและฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ กระทรวง พม. ขอรับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อจะได้ไม่มีความวิตกกังวล โดยได้เตรียมหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงไว้รองรับการปฎิบัติงาน
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า เย็นวานนี้ (29 พ.ค. 66) มีการประชุมด่วนเพื่อหารือกับผู้บริหารกระทรวง พม. ทุกกรม ในการจัดระบบสถานสงเคราะห์และสถานรองรับทั่วประเทศใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้รับบริการทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก อีกทั้งจะให้มีการหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานที่ทำงานมานานเกิน 3 ปี เนื่องจากอาจขาดความกระตือรือร้น ความเอาใจใส่ และจะให้มีการประเมินและพัฒนาทักษะพี่เลี้ยงเป็นระยะ สำหรับเย็นวันนี้ (30 พ.ค. 66) ได้ประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. ร่วมกับหัวหน้าสถานสงเคราะห์และหน่วยงานสถานรองรับทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนการดูแลผู้รับบริการให้ดีขึ้น
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุครั้งนี้ เกิดขึ้นในสถานสงเคราะห์ของรัฐ ซึ่งกระทรวง พม. ต้องยอมรับผิดและขอโทษสังคมอย่างยิ่ง เพราะคนในสังคมคาดหวังหน่วยงานรัฐในการช่วยเหลือดูแลเด็กอย่างดี ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งระบบโครงสร้าง รวมถึงบุคลากร โดยจะนำวิกฤตเป็นโอกาสที่จะต้องจัดการทั้งระบบให้ชัดเจน
'ยูนิเซฟ' เรียกร้องรัฐบาลมีกลไกลดูแลสถานรองรับเด็กทั่วประเทศ
ขณะที่ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก UNICEF Thailand ระบุถึงกรณีทารุณกรรมเด็กในสถานสงเคราะห์ที่จังหวัดสระบุรี ระบุว่า
ข่าวการทารุณกรรมเด็กในสถานสงเคราะห์ครั้งล่าสุดที่จังหวัดสระบุรี เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจและไม่ควรที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เหตุการณ์ทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง และถูกลืม เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย
ในประเทศไทย มีเด็กกว่า 120,000 คนอาศัยอยู่นอกบ้านในสถานรองรับต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น สถานสงเคราะห์ของรัฐและเอกชน โรงเรียนประจำและวัด มีหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตในสถานรองรับมักมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะถูกทำร้ายและต้องเผชิญผลกระทบเชิงลบทั้งทางร่างกายและจิตใจเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือการไม่มีกลไกในการกำกับติดตามความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในสถานรองรับ
เด็กทุกคนควรได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้ :
- สถานรองรับเป็นทางเลือกสุดท้ายในการดูแลเด็ก จากการศึกษาพบว่าเด็กๆ เติบโตได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวเพราะพวกเขาจะได้รับความรัก ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดมากกว่าการอยู่ในสถานรองรับ
- มุ่งเน้นให้เด็กได้อยู่ภายใต้การดูแลแบบครอบครัว ที่มีหล้กฐานสนับสนุนว่าจะทำให้เด็กมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
- มีการประสานงานกันระหว่างองค์กรภาครัฐ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้มีการกำกับดูแลสถานรองรับประเภทต่างๆ รวมถึง สถานสงเคราะห์ โรงเรียนประจำ และวัด ผ่านระบบการขึ้นทะเบียนและการกำหนดมาตรฐาน
- รัฐต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสถานรองรับเด็กทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐและเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ มีความปลอดภัย ได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง รวมทั้งได้เรียนรู้และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเต็มที่