สถาบันออสซีเทียบ 'พิธา-ปธน.ชิลี' ชี้โอกาสผลักดันนโยบายมีน้อย เหตุต้องเอาใจพรรคร่วม หวั่นหากทำตามนโยบายไม่ได้ จะเอื้อให้ขั้วการเมืองฝ่ายทหารกลับมามีคะแนนนิยมอีก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศไทยว่าเว็บไซต์ Theinterpreter ของสถาบัน Lowy Institute สถาบันวิชาการสำคัญของออสเตรเลียได้ออกบทวิเคราะห์ระบุว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลนั้นอาจจะไม่สามารถผลักดันนโยบายที่สำคัญต่างๆได้จริง ถ้าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์ระบุต่อไปว่ากรณีของนายพิธานั้นเปรียบเทียบได้กับนายกาเบรียล โบริก ประธานาธิบดีชิลีจากพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายเสรีนิยม ที่ในเดือนนี้ฝ่ายตรงข้ามของนายโบริกได้แก่ฝ่ายพรรครีพับบลิกันของชีลีนั้นสามารถชนะที่นั่งในรัฐสภาได้มากกว่า 3 ใน 5 ของที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจมากกว่าในการวีโต้กฎหมายและผ่านญัตติต่างๆ
นายกาเบรียล โบริก ประธานาธิบดีชิลี
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะมาจากความกังวลในเรื่องของอาชญากรรม,การค้ายาเสพติด และปัญหาผู้อพยพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนนี้คะแนนนิยมนายโบนิกอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่คะแนนอันไม่เป็นที่นิยมอยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สถาบันวิจัยคาเดมของชิลีระบุว่านี่แสดงให้เห็นว่าแม้ชาวชิลีส่วนใหญ่จะเลือกนายโบริกเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะต้องพร้อมยอมรับกับวาระการเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับรุนแรงของเขา ซึ่งอันที่จริงแล้วนายโบริกชนะการเลือกตั้งโดยได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งรอบแรกในปี 2564 เท่านั้น และการเลือกตั้งรอบที่สองพรรคของเขาจำเป็นต้องขยายแนวร่วมให้ครอบคลุมพรรคขนาดกลางที่อยู่ฝ่ายซ้าย รวมไปถึงพรรคที่มีจุดยืนตรงกลางในหลายๆพรรคเพื่อทำให้ชนะการเลือกตั้งในรอบสอง
และตอนนี้ด้วยการที่ฝ่ายขวาได้กลับมาครองที่นั่งส่วนมากอีกครั้งก็ทำให้เป็นการยากสำหรับนายโบริกขึ้นไปอีกในการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจตามที่ได้เคยให้ความหวังไว้
เว็บไซต์ Theinterpreter ระบุต่อไปว่านายพิธานั้นมีจุดที่คล้ายกับนายโบริกก็คือว่านายพิธาได้รับคะแนนแค่เพียงส่วนมากเท่านั้นในประเทศไทย และนายพิธาต้องรวบรวมแรวร่วมพรรคอื่นๆ ที่มีแนวคิดที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งที่ผ่านมานั้นนายพิธาได้ยอมรับในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความท้าทายในการจัดตั้งรัฐบาลและเข้าใจว่าเขาต้องเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง
โดยมีรายงานว่าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านอีกหลายพรรคได้แสดงจุดยืนคัดค้านแผนการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลได้มีการตกคงกับอีกเจ็ดพรรคการเมืองเพื่อจะทำให้ข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเป็นไปได้,การยุติการผูกขาด,การปฏิรูปกองทัพ และการอนุญาตให้แต่งงานระหว่างเพศเดียวกันได้ ถ้าหากพวกเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าพรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ว่าผู้สนับสนุนของพวกเขาอาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างน้อยก็ในช่วงเร็ววันนี้
โดยถ้าหากนายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริง ปัญหาอย่างหนึ่งที่เขาต้องเผชิญก็คือกรณีการสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าที่ผู้สนับสนุนของเขาต้องการกับการทำให้ตัวเองได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่มีจุดยืนในการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงน้อยกว่าพรรคก้าวไกล และผู้โหวตเลือกพรรคเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการเป็นผู้ปกครองอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันของผู้คน มิฉะนั้นทัศนคติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเปลี่ยนไป อันจะส่งผลทำให้พรรคการเมืองที่อิงไปกับฝ่ายทหารและเหล่าบรรดานักการเมืองอาจจะหวนคืนกลับมามีอำนาจโดยอาศัยความผิดพลาดของนายพิธาก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก:www.lowyinstitute.org/the-interpreter/what-thailand-s-youth-leaders-can-learn-chile-s-radical-government