สธ.ยันมีเตียงพอ แม้ติดเชื้อเพิ่ม! เผยอัตราครองเตียงใน กทม.แค่ 22% หลัง รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ประกาศเต็มทุกห้อง-รอส่งต่อ ด้าน'หมอนิธิพัฒน์-หมอยง'เตือนถึงฤดูกาลโควิดระบาด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงาน สืบเนื่องจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก Siriraj Piyamanarajkarun Hospital ระบุว่า ขณะนี้เตียงผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และ เตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เต็มทุกห้อง
ทั้งแผนกฉุกเฉิน (ER) ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รอการส่งต่อ ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มได้ จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้
ประกาศดังกล่าวสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม และได้ตอกย้ำว่าโควิด-19 อาจกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง ดังเช่นแพทย์หลายๆ ท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็น
หมอเตือนฤดูกาลของโควิด-19 มาถึงแล้ว คาดกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้โพสต์ข้อความเตือนเกี่ยวกับการระบาดของโควิด เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ระบุว่า ขอเตือนกันดังๆ อีกครั้งว่า อย่ามัวสนใจกันแต่เรื่องจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ศึกโควิดที่ทำท่าจะซบเซาไปแล้ว กำลังกลับมาโงหัวฟาดหางประเทศเราเป็นการใหญ่
ณ บ้านริมน้ำ ตัวเลขผู้ป่วยโควิดรอรับเข้าโรงพยาบาลกลับเพิ่มมากขึ้นใหม่ นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่กลุ่มเปราะบางแล้ว เริ่มมีผู้ป่วยเด็กให้เห็นประปรายด้วย ในภาพรวมประเทศสัปดาห์ล่าสุดที่ 20 ของปี ยังมีการเพิ่มขึ้นไปต่อของยอดผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ 19 ก่อนหน้าราว 12%, 26%, และ 39% ตามลำดับ ส่วนยอดผู้เสียชีวิตซึ่งพุ่งตามหลังมาเพิ่มขึ้นไปถึง 200% ที่ต้องระวังคือ ยอดผู้ป่วยอาการหนักสะสมรวมเข้าใกล้แนวรับศักยภาพตึงมือภาคการแพทย์ที่ 500 คนแล้ว และผู้เสียชีวิตก็ใกล้จะถึงแนวรับที่ 10 คนต่อวันแล้วเช่นกัน
ปัจจัยหลักน่าจะมาจากผู้คนมีกิจกรรมนอกบ้านแบบไม่ระมัดระวังกันมากขึ้น ส่วนปัจจัยรองอาจมาจากสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายที่สืบตระกูลของโอไมครอน XBB ซึ่งถือโอกาสรุกคืบเข้ายึดครองตลาดในช่วงที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากวัคซีนของคนไทยเราเริ่มตกลง แถมยังเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างหนักทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมากในที่สาธารณะช่วงนี้จึงควรหลีกเลี่ยง และขอให้เคร่งครัดการใส่หน้ากากในพื้นที่ที่การระบายอากาศไม่ดี #เข้มงวดโควิดกันให้ดีด้วย
เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 ถึงการระบาดเพิ่มขึ้นของโควิด-19 เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ว่า ตามที่คาดหมายไว้เมื่อนักเรียนเปิดเทอม และเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นการระบาดของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล และจะมีจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนจนถึง เดือนสิงหาคมและหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลง และจะไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่มากในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปีหน้าแล้วก็สงบ ประชากรส่วนใหญ่จะติดเชื้อ ความรุนแรงของโรคลดลง
สำหรับผู้ที่เป็น novid ทั้งหลาย หรือที่ยังไม่เคยเป็น ก็จะเป็นในช่วงนี้มากขึ้นจะเหลือผู้ที่ไม่เคยเป็นจริงๆน้อยลงอย่างมาก
ในภาพรวมผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอาการจะน้อย ความรุนแรงที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษจะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มนี้จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกัน และรีบรักษาให้เร็วที่สุดด้วยยาต้านไวรัส
สาเหตุที่ทำให้โรคระบาดมาก เพราะชีวิตกลับเข้าสู่ปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง ก็จะให้อยู่บ้าน และในขณะเดียวกันการติดเชื้อภายในบ้านเดียวกัน ก็เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในโรงเรียนสถานศึกษาและสถานที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเช่นตามโรงงาน
การป้องกันการระบาดทุกคนจะต้องช่วยกันลดจำนวนให้ได้น้อยที่สุด และให้จำนวนค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเกิดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จะเป็นภาระในระบบสาธารณสุข เพราะในจำนวนนี้จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ต่อไปคำว่า novid มีจริงแต่ก็คงจะน้อยลงไปเรื่อยๆ และการติดซ้ำ 2 หรือ 3 สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การเป็นซ้ำ ส่วนใหญ่อาการจะลดน้อยลง
ทุกคนจะต้องช่วยกันลดการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะในช่วงการระบาดใหญ่ที่กำลังจะมาถึงตามฤดูกาล
สธ.เผยอัตราครองเตียงโควิดใน กทม.แค่ 22% ยันมีเพียงพอ แม้ผู้ป่วยเพิ่ม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2566 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม และเริ่มมีฝนตก ทำให้เกิดการระบาดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือการเล็กน้อย โดยจะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน มีส่วนหนึ่งที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่คลินิกทางเดินหายใจ ARI ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายโรงพยาบาลได้ปรับโดยขยายระยะเวลาบริการเป็นนอกเวลาด้วย รวมถึงคัดกรองผู้ป่วยโควิดที่ห้องฉุกเฉิน โดยมีการแยกโรคเพื่อความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความคับคั่ง และจัดการให้รับยาแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้ Telemedicine ไม่ต้องมาตรวจที่โพยาบาล ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยในที่นอนมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนเปรียบเทียบก็ยังน้อยกว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้ กรณีที่มีข่าวว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเต็ม เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งจะมีเตียงผู้ป่วยโควิดอยู่จำกัดและได้มีการปรับเตียงไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว
โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์จริงกับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันโรคทรวงอก พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเตียงได้ดี โดยเดิมเคยมีศักยภาพเตียงจำนวนมาก ซึ่งได้ปรับไปดูแลผู้ป่วยหนักโรคอื่นแล้ว ให้กลับมารับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นสาเหตุจากมีโรคร่วม และจัดอัตรากำลังพยาบาลตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและพร้อมที่จะขยายเตียงได้เพิ่มขึ้นอีกทั้ง ICU และเตียงผู้ป่วยหนักระดับอื่น จึงไม่มีข้อกังวลที่น่าเป็นห่วง ขอแนะนำว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเข้มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน ควรไปรับวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่งเพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้อย่างดี โดยเราจะเห็นว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่า 90% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบทั้งนั้น
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเตียงทั้งหมดในประเทศพบว่า ขณะนี้ มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสม 2,527 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 22.41 แบ่งเป็น กลุ่มไม่มีอาการ 240 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.7 กลุ่มอาการน้อย 687 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.8 กลุ่มอาการปานกลาง 1,146 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.30 กลุ่มอาการหนัก 402 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.2 และกลุ่มที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 278 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.2
ดังนั้น กรมการแพทย์ขอเน้นย้ำว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังคงมีเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งยา และเวชภัณฑ์เพียงพอ อีกทั้งยังสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ได้ตามปกติ โดยทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมการแพทย์และเครือข่ายมีการบริหารเตียงรองรับผู้ป่วยหนักร่วมกันได้ถ้าจำเป็นต้องส่งรักษาต่อ
อนึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น ถ้าหากมีอาการแต่ตรวจ ATK ไม่พบ อาจสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีอาการไม่มาก ก็สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ไม่ต้องไป รพ. แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการวินิจฉัย