เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'บัณฑิต หาญธงชัย' อดีตรองอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี เบียดบังเงินค่าบำรุงการใช้อาคาร สถานที่ สนามกีฬาฟุตบอล ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ ยืนโทษจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา - ส่วนพวก 1 ราย โดนคุก 28 ปี 84 ด. ป.ป.ช.ขอ อสส.ฎีกาสู้คดีต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายบัณฑิต หาญธงชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี กับพวก คือ นายนพดล ปัญญาจักร เบียดบังเงินค่าบำรุงการใช้อาคาร สถานที่ และสนามกีฬาฟุตบอล ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้ คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4
จากเดิมที่พิพากษาว่า
นายบัณฑิต หาญธงชัย จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 157 พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 172
การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 172 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90
จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท
นายนพดล ปัญญาจักร จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 147 พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ. 2561 มาตรา 172
การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ตามมาตรา 91 การกระทำผิดของจำเลยที่ 2 แต่ละกรรมความผิดเป็นกรรมเตียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90
จำคุก กระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78
คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท
จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนดกระทงละ 2 ปี 6 เดือน และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวมสิบสี่ กระทงความผิด เป็นจำคุก 28 ปี 84 เดือน และปรับ 140,000 บาท
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบคำแถลงการณ์ปิดคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองรับราชการมาเป็นเวลานาน หลังเกิดเหตุไม่นานจำเลยที่ 2 ก็ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สถาบันการพลศึกษา วิทยาลัยเขตอุดรธานี ครบถ้วนแล้ว อันเป็นการบรรเทาผลร้ายในการกระทำผิดแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้สำนึกผิดในผลของการกระทำ
เมื่อพิจารณาถึงประวัติภูมิหลังไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามมาตรา 29 , 30 (ที่แก้ไขไหม่)
เป็นแก้ว่า
จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด(อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1
แต่สำหรับจำเลยที่ 2 มีมติเห็นชอบให้ อสส.ฎีกา เพื่อให้ศาลพิพากษาโดยไม่รอการลงโทษจำคุก
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ