สื่อนอกเผยความเห็นนักวิชาการมองสามสัญญาณรัฐประหาร ชี้หาก ส.ว.มีมากพอโต้ผลโหวตนายกฯ-'พิธา' หลุด ส.ส.อาจนำไปสู่การประท้วง ความรุนแรง เปิดช่องให้กองทัพออกมา คาดภัยรัฐประหารเป็นต้นเหตุข่าวลือดีลเพื่อไทย-ภูมิใจไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranws.org) รายงานข่าวอ้างอิงจากสำนักข่าว Eurasia Review ที่เป็นสำนักข่าวเชิงวิเคราะห์สถานการณ์ของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ไปสัมภาษณ์นายเมอร์เรย์ ฮันเตอร์ นักธุรกิจและนักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนมาอย่างยาวนาน
โดยนายฮันเตอร์ได้ระบุว่าจากสถานการณ์การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้ ถ้าหากจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะต้องมีสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวังออกมาสามประการได้แก่
1.นักการเมืองจากทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถจะตกลงกันได้เกี่ยวกับตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่
2.มีจำนวน ส.ว.ที่มากพอจะโต้กลับผลโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล และ
3.กองทัพเริ่มที่จะสร้างกำแพง,แบร์ริเออร์ล้อมรอบอาคารยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในกรุงเทพ
นายฮันเตอร์กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลนั้นได้รับชัยชนะอย่างล้มหลามในพื้นที่กรุงเทพ ดังนั้นการรัฐประหารถ้าหากเกิดขึ้นอาจจะเป็นการเรียกให้มวลชนเป็นจำนวนหลักแสนคนลงสู่ท้องถนน โดย ณ เวลานี้ได้เริ่มมีการประท้วงแล้ว ถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการประท้วงในกรุงเทพอย่างแน่นอน
นายฮันเตอร์กล่าวว่าสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้การแสดงออกถึงความโกรธและความคับข้องใจบนท้องถนน และอาจจะตามมาด้วยการเดินขบวนไปยังสถานที่สำคัญของทางราชการต่างๆ โดยสิ่งนี้อาจทำให้กองทัพต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์ของเลือดในประเทศไทยแบบที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 2553
อย่างไรก็ตามขีดความสามารถของมวลชนจำนวมากที่แสดงจุดยืนต้านรัฐประหารก็อาจทำให้ผู้นำกองทัพต้องคิดใหม่และนำไปสู่ความลังเล ถ้าหากมีการรัฐประหารจริง มันก็จะก้าวเข้าไปสู่ช่วงเวลาแห่งความยาวนานของการประกาศใช้เคอร์ฟิวเพื่อป้องกันการประท้วงที่เกิดขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นการยากสำหรับกองทัพในการคุมสถานการณ์
นายฮันเตอร์กล่าวทิ้งท้ายว่าภัยของการรัฐประหารนั้นก็อาจจะทำให้เกิดแรงกดดันส่งผลทำให้เหล่าบรรดานักการเมืองต้องหาทางประนีประนอมระหว่างกันให้ได้โดยเร็ว ดังจะเห็นว่ามีข่าวลือที่ไม่ยืนยันเกี่ยวกับกรณีพรรคเพื่อไทยได้ไปหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย หรือข่าวการมีข้อตกลงอื่นๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร ถ้าหากเกิดกรณีที่นายพิธาถูกตัดสิทธิ์ ส.ส.จริง
อย่างไรก็ตามแนวร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวก็อาจจะถูกประท้วงได้อีกเช่นกัน เพราะคะแนนรวมของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 32.3 ขณะที่พรรคก้าวไกลอยู่ที่ร้อยละ 38.5
เรียบเรียงจาก:https://www.eurasiareview.com/22052023-what-will-the-next-military-coup-in-thailand-look-like-analysis/