อสส.ได้รับแจ้งเหตุควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว 914 เรื่อง หลัง พ.ร.บ.ป้องกันทรมานฯ มีผลบังคับใช้ มีผู้เสียหายร้องถูกอุ้มทรมาน 3 เรื่อง สั่งรับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว 2 เรื่อง แต่ยังไม่มีขอศาลยุติการกระทำ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ 2565 พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรค 1 ทำให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ.2566 ไม่มีผลบังคับใช้มาแต่ต้น ซึ่งมีผลให้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ทันที
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวถึงความคืบหน้าการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ “พ.ร.บ. อุ้มหาย” ว่า จากสถิติจากการรายงานสถิติศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสอบสวน จากสถิติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่ราชกิจจาฯประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งเเต่วันที่ 22 ก.พ. จนถึง 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการรายงานรับแจ้งเหตุการทรมานการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจากผู้พบเห็นหรือทราบเหตุ
โดยมีเเจ้งเข้ามาในเดือนมีนาคม 2 เรื่อง คือ 1 เรื่องจากส่วนกลาง(ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย) เเละอีก1 เรื่องในจังหวัดสุรินทร์ ในเดือน เม.ย.มี 1 เรื่องจากส่วนกลาง 1 เรื่อง จากจังหวัดนครราชสีมา (สีคิ้ว,ปากช่อง) ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยฯตั้งเเต่ 18 พ.ค.จากการรายงาน18-22 พ.ค.มีการรายงานการจับกุมมาที่ส่วนกลาง 141 เรื่อง ในต่างจังหวัด
รวมตั้งแต่ 22ก.พ.-22 พ.ค.ได้รับแจ้งการคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบจำนวนทั้งหมด 914 เรื่อง โดยเป็นการเเจ้งเหตุการทรมานการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจากผู้พบเห็นหรือทราบเหตุ จำนวน 3 เรื่อง ซึ่งมีการรับคำร้องทุกข์ หรือ คำกล่าวโทษไปแล้ว 2 เรื่อง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีเรื่องที่ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำทรมานการกระทำที่โหดร้านไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยี
นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในหน้าที่ของสำนักงานอัยการแม้จะยังขาดวัสดุอุปกรณ์ที่รอการจัดสรรจากงบประมาณ ที่จะต้องรับเรื่องและบันทึกภาพและข้อมูลต่างๆทั่วประเทศ แต่เมื่อเป็นหน้าที่ สำนักงานอัยการก็จัดวัสดุ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่มีอยู่มาแก้ปัญหาในการรับเรื่องต่างๆไปก่อน เมื่อเป็นหน้าที่ก็จะทำให้กฏหมายมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองประชาชน อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งในระหว่างนี้ผู้บริหารทั้งสองสำนักงาน คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้มีการร่วมหารือเพื่อให้การดำเนินการตามกฏหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติต่อไป