สธ.จัดทำยุทธศาสตร์ 5 ปี เดินหน้าใช้เทคโนโลยีจัดระบบบริการและดูแลรักษาผู้ป่วย เผยมี รพ.เงินทุนติดลบ 30 กว่าแห่ง รวมกว่าพันล้านบาท มอบ นพ.สสจ.แก้ปัญหา คาดไตรมาส 3 - 4 สถานการณ์ดีขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 5/2566 ว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ได้มอบแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขระยะ 5 ปีข้างหน้า ให้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการประชาชน เช่น การตรวจรักษาผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) การจัดบริการส่งยาให้ที่บ้านเหมือนบริการส่งอาหาร ส่วนการพัฒนาบุคลากร จะเน้นในสาขาวิชาชีพที่ประชาชนต้องการมากขึ้น เช่น ทันตแพทย์ เป็นต้น
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา มีการพัฒนาเรื่องบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery) ซึ่งหลังดำเนินการไปประมาณ 2-3 หมื่นรายต่อปี พบว่าผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย รวมถึงประหยัดงบประมาณของรัฐได้อย่างมาก จึงให้ขยายบริการไปถึงโรงพยาบาลชุมชนในหัตถการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อค้นหาโรคมะเร็ง เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดกรองและเข้าสู่ระบบดูแลรักษาได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ส่วนการติดตั้งโซล่าเซลล์ในโรงพยาบาลทุกแห่ง
ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 20% ได้สั่งการให้เร่งรัดติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 นี้ เนื่องจากในปี 2567 -2568 มีแผนที่จะจัดหาอุปกรณ์ประหยัดพลังงานให้กับทุกโรงพยาบาลในสังกัด รวมถึงทยอยเปลี่ยนรถพยาบาลเป็นรถไฟฟ้า เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณ ค่าน้ำมัน และช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย
โรงพยาบาลเงินบำรุงติดลบกว่า 30 แห่ง รวมกว่าพัน ล. เร่งใช้แนวคิด 1 จังหวัด 1 รพ.แก้ปัญหา
นพ.โอภาส กล่าวถึงประเด็นเงินบำรุงติดลบ ว่า ได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่สงสัยว่า รพ.มีเงินติดลบ พบว่า รพ.ขอนแก่น มีเงินติดลบจริง ซึ่งได้มีการอธิบายสาเหตุและแก้ไขแล้ว แต่ขอย้ำว่า เงินบำรุงติดลบไม่ได้มีความผิด แต่เป็นสิ่งที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะไปแก้ไข
โดยภาพรวมของประเทศ มีประมาณ 25-35 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งไม่ได้มากถ้าเทียบกับ รพ.ในกระทรวงมีประมาณ 1 พันแห่ง
สำหรับสาเหตุที่แต่ละแห่งที่มีปัญหาเงินบำรุงติดลบมีหลากหลาย เช่น อย่างบางแห่ง เป็น รพ.ขนาดเล็ก พื้นที่ประชากรน้อย งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ขึ้นกับจำนวนประชากร ทำให้เงินเข้า รพ.น้อยไปด้วย
“ได้มอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ไปช่วยดูแลและดำเนินการหาทางออก โดยให้ยึดนโยบาย 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล (One Province One Hospital) และหากพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นก็ให้สามารถโอนเงินบำรุงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งได้ เป็นการเฉลี่ยความรับผิดชอบ และการดูแลซึ่งกันและกัน โดยให้สนับสนุนเงินเพื่อดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในจังหวัดได้ ให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกัน” นพ.โอภาสกล่าว
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ไตรมาส 3 และ 4 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และเมื่อมีนโยบายช่วยกันดูแลเป็นทั้งจังหวัด ก็ไม่น่าจะทำให้รพ.เล็กๆมีปัญหามาก แต่ก็ต้องดูประสิทธิภาพการเก็บเงินค่ารักษา และการลดค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย
นพ.โอภาส กล่าวถึงจำนวนเงินบำรุงติดลบว่า ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ถ้าเทียบกับภาพรวมเงินบำรุงกระทรวงฯ อยู่ที่แสนกว่าล้านบาท
ดังนั้น ถือว่าไม่มากสำหรับการติดลบ เพราะเป็นบางโรงพยาบาล เนื่องจากบางแห่งมีเยอะบางแห่งมีน้อย ภาพรวมจึงจะต้องดูแลกันสำหรับรพ.ติดลบ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ากรณีช่วงโควิดเงินบำรุงมากขึ้น แต่ทำไมยังมีติดลบบางแห่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า นี่เป็นภาพรวม แต่อย่างที่บอกว่า บางรพ.มีประชากรน้อย และอาจมีปัญหาหารายได้ ต้องดูเป็นแห่งๆ ดังนั้น เมื่อเทียบจำนวนรพ.ติดลบกว่า 30 แห่ง เมื่อเทียบพันกว่าแห่งจึงไม่มาก แต่ก็ต้องดูแล และ สธ.ได้มอบนายแพทย์สาธารณสุขไปดูแล หากพบว่าโรงพยาบาลไหนแก้ไขไม่ได้ ทาง สธ.จะลงไปดูแลต่อไป