คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบให้บริการวัคซีนโควิด-19 ประจำปี พร้อมฉีดพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควบคู่ ย้ำใช้ชนิดใดรุ่นใดก็ได้ แนะฉีดก่อนฤดูฝน เหตุเป็นช่วงการระบาด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้
เรื่องที่ 1 แผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในระยะถัดไป เป็นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปีสำหรับประชาชน (2566 - 2567) โดยจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก ฉีดปีละ 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดช่วงก่อนฤดูฝน หรือตั้งแต่เมษายน เพราะคาดว่าเชื้อจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน สามารถใช้วัคซีนชนิดใด/รุ่นใดก็ได้ที่ได้รับการรับรอง โดยไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าไร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชาชนที่ต้องการฉีดเกือบ 20 ล้านโดส และสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง แต่หากไม่ได้ฉีดพร้อมกัน สามารถฉีดเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง ซึ่งตรงนี้ได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว
"แม้หลังสงกรานต์ จะพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ และขอให้ประชาชนรีบมารับวัคซีนโควิดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉีดก่อนป้องกันก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง (กลุ่ม 608 และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี) กลุ่มเสี่ยงการสัมผัส/แพร่เชื้อ คือ อาชีพที่ต้องสัมผัสคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่แออัด เช่น ทัณฑสถาน เป็นต้น รวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ อสม. เพื่อลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถรับวัคซีนประจำปีได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ.ยังได้ประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเลขาธิการสปสช.รับเรื่องนี้แล้วว่า ในช่วงที่ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเข็มกระตุ้น ได้ขอให้สปสช.สนับสนุนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควบคู่ โดยจะจัดสรรงบประมาณให้บริการประชาชน ซึ่งจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณา
“เรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย โดยสธ.ก็จะเร่งจัดหาบุคลากรในการให้บริการ ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิดกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็จะเป็นบุคลากรกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะมีค่าฉีดวัคซีน โดยจะเก็บมาจาก สปสช. โดยไม่ได้เพิ่มงบประมาณแต่อย่างใด ” นายอนุทิน กล่าว
เรื่องที่ 2 เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก พ.ศ. 2566 เนื่องจากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรค เพิ่มความเข้มข้นในการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จัดกิจกรรมรณรงค์จิตอาสาฯ อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เร่งรัดผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สื่อสารเชิงรุกไปยังสถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา และประชาชน เพิ่มความเร็วในการตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว รวมทั้งให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมรองรับการรักษาและควบคุมโรคตามแนวทางของกรมควบคุมโรค
เรื่องที่ 3 เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่ 4 เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากมีเหตุการณ์ระบาดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงในโรงเรียน คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงมีข้อเสนอต่อการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานดำเนินการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.ในวันที่ 1 พ.ค. 2566 ต้องรอการพิจารณาก่อนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้ฉีดได้กลุ่มเสี่ยงก่อน เป็นการเตรียมตัวในเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่วัคซีนโควิดฉีดได้เลย ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเดินเข้าไปรับวัคซีนคู่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 608 กลุ่มเดินทางสัญจรไปมาท่ามกลางคนมากมาย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
นายอนุทิน กล่าวถึงกรณีในอนาคตวัคซีนโควิดจะฉีดฟรีเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ส่วนคนทั่วไปต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ว่า โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนไข้หวัดใหญ่ หวังว่าในอนาคตเทคโนโลยีทางการแพทย์อาจมีวัคซีนรวมสายพันธุ์เกิดขึ้น แต่เมื่อพี่น้องประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น การแพร่ระบาดโควิดก็จะลดความรุนแรง ก็จะจำกัดเป็นกลุ่มเสี่ยง เหมือนที่เราให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่เน้นกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก ซึ่งไม่ต้องวิตกกังวล และในอนาคตองค์การเภสัชกรรมก็มีการพัฒนาวัคซีนโควิด ล่าสุดแจ้งว่า การทดลองในมนุษย์ 4,000 ตัวอย่าง
ขณะนี้ฉีดกลุ่มตัวอย่างครบแล้ว และผลลัพธ์ค่อนข้างมีประสิทธิผลดีมาก ซึ่งตนได้รับรายงานมาและเรียนให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมท่านใหม่ ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการได้รวดเร็ว เพื่อให้นำออกมาใช้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน
เมื่อถามว่าการฉีดวัคซีนรองรับแรงงานต่างด้าวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ได้ทุกคน กลุ่มเสี่ยงได้หมด ฉีดคนไทยทุกคน แต่ไม่ฉีดคนที่อาศัยในประเทศไทยคงไม่ได้ช่วยอะไร
“การจัดหาวัคซีนโควิดในอนาคตเราหวังว่า วัคซีนของอภ.จะได้ผลดี เราก็จะจัดหาได้ง่าย แต่หากยังไม่ได้ ก็ต้องจัดหาแหล่งอื่นเพื่อเสริมความมั่นใจในแต่ละปี แต่ผมมั่นใจว่า วันหนึ่งเราจะเห็นการรวมสายพันธุ์ต่างๆในวัคซีนเข็มเดียว ส่วนขณะนี้วัคซีนโควิดยังฟรี โดยเฉพาะภาครัฐ ส่วนเอกชน วัคซีนที่เราจัดสรรไปนั้นไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย แต่เขาจะคิดค่าฉีดค่าบริการก็ขึ้นกับแต่ละแห่ง แต่ของภาครัฐฟรีหมด จัดส่งให้รพ.รัฐทั่วประเทศ สำหรับเอกชน หากประสงค์จะซื้อวัคซีนเองก็ทำได้ อยู่ที่ตัวแทนผลิตจะขาย เพราะตอนนี้ อย.ให้การรับรอง เพียงแต่บางยี่ห้อปลดแล้วก็ซื้อได้ อยู่ที่คนขาย แต่ในส่วน สธ.เรามีความสัมพันธ์ดีกับหลายประเทศ อย่างปีนี้ไม่ต้องซื้อวัคซีนโควิด เพราะรัฐบาลจากมิตรประเทศของเราได้แสดงความจำนงให้รัฐบาลไทยเป็นจำนวนมาก” นายอนุทิน กล่าว