ป.ป.ช.พาสื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ สนามกีฬาภาคตะวันออก หลังดำเนินการก่อสร้าง 14 ปียังไม่แล้วเสร็จ ล่าสุดเมืองพัทยามีการหารือ เตรียมจัดประกวดราคาอีกครั้ง งบ 336 ล. ด้าน ป.ป.ช.เสริมเมืองพัทยาบูรณาการป้องกันเชิงรุกร่วมกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช. ครั้งที่ 2 นำโดย นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2 นายกิจติพงศ์ ขยิบแย้ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดชลบุรี และ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ลงพื้นที่ตรวจสอบประเด็น โครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออกเมืองพัทยา ระยะที่ 3 ซึ่งก่อสร้างมายาวนาน ตั้งแต่ ปี 2551 งบประมาณกว่า 774 ล้านบาท ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ มีสภาพร้าง
นายสุพจน์ กล่าวว่า การลงพื้นที่โครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออกเมืองพัทยา ซึ่งสำนักงานป.ป.ช. ได้รับแจ้งว่ามีการก่อสร้างสนามกีฬาและไม่มีการดำเนินการต่อเนื่องหรือถูกทอดทิ้ง จึงได้มีการลงพื้นที่มาสำรวจความเป็นมาของโครงการดังกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดยข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่ามีการก่อสร้างเป็นระยะ แบบออกเป็นระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง และระยะที่สาม ที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จเนื่องจากผู้รับจ้างไม่สามารถ ปฏิบัติตามสัญญาได้ตามกรอบเวลา
ด้าน นายปรเมศวร์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า การดำเนินการในระยะที่สามในช่วงปี 2561 ได้มีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการให้แล้วเสร็จจำนวนเงินกว่า 398 ล้านบาท แต่เมื่อผู้รับจ้างมาดำเนินการก่อสร้างประสบภาวะในเรื่องของโควิด 19 จึงทำให้สามารถเบิกงวดงานได้แค่เพียง 12 งวด จาก 30 งวด เป็นเงินกว่า 140 ล้านบาท ทำให้โครงการไม่แล้วเสร็จตามสัญญา
ซึ่งทางเมืองพัทยาพิจารณาแล้วว่า หากมีการดำเนินการต่อไปจะทำให้เสียหายมากขึ้น จึงได้มีการบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้าง ซึ่งได้มีการดำเนินการในเรื่องค่าปรับในเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เป็นเงินจำนวนกว่า 80 ล้านบาท และได้มีการมีการยึดเงินประกันและเงินล่วงหน้าเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาทส่วนที่เหลือจะมีการดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
นายกเมืองพัทยา กล่าวอีกว่า ในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่ง คิดว่าต้องมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จเนื่องจากมุ่งหวังให้สนามกีฬาแห่งนี้เป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงท่องเที่ยวทางกีฬา และโครงการนี้ยังเป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นจำนวนมากซึ่งสร้างมาแล้ว 14 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ
ดังนั้นจึงได้มีประชุมสภาและมีพิจารณาร่วมกัน และได้มีการอนุมัติ 336 ล้านบาท ในเดือน ก.ย. 2565 เพื่อที่จะดำเนินการสร้างสนามฟุตบอล 20,000 ที่นั่งให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้น สำนักช่างจะมีการประเมินว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เป็นแบบเข้าสู่ระบบในการหาจัดซื้อจัดจ้าง(TOR) อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระเบียบพัสดุแล้ว คาดว่าไม่เกิน 3 เดือนจะสามารถจัดประกวดราคาและได้ผู้รับจ้างรายใหม่
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2 กล่าวว่า กระบวนการต่อไปทาง ป.ป.ช. และเมืองพัทยา จะมีการบูรณาการป้องกันเชิงรุกร่วมกัน โดยในส่วนของ ป.ป.ช. จะมีการเข้ามาสังเกตการณ์ ซึ่งหากมีข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นจะมีการหารือร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดงาน, ขอบเขตของงาน, การพิจารณาเสนอราคา,การตรวจรับงาน เป็นต้น ซึ่งหวังว่าการดำเนินการบูรณาการร่วมกันระหว่างเมืองพัทยาและ ป.ป.ช. จะเป็นต้นแบบในการทำงานให้กับหน่วยงานอื่นต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง ประเด็น ป.ป.ช.เข้าไปร่วมมือกับเมืองพัทยาในการจัดหาเอกชน เข้ามาก่อสร้างจะช่วยป้องกันการทุจริตได้อย่างไร นายสุพจน์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการหาผู้รับจ้าง ตามระเบียบเป็นหน้าที่ของเมืองพัทยา แต่ทางสำนักงาน ป.ป.ช. จะเข้าไปสังเกตการณ์ว่ากระบวนการหาตัวผู้รับจ้างมีการสมยอมกันหรือไม่ มีการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นให้เขาทำสัญญาหรือไม่ตามกฏหมายหรือไม่ เพื่อให้เป็นกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นมาว่า จุดเริ่มต้นของโครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออก เมืองพัทยา เกิดขึ้นปี 2551 ภายใต้แนวคิดของคณะผู้บริหารเมืองพัทยาภายใต้การนำของ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาในสมัยนั้น ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ 371 ไร่ ใน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ให้กลายเป็นศูนย์รวมการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศที่มีมาตรฐานสากล จึงได้ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 774 ล้านบาท ตามแผนก่อสร้างตั้งแต่ปี 2551-2560
โดยโครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออกเมืองพัทยา เดิมวางแผนการก่อสร้างไว้ 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2551-2553 ที่จะเป็นการก่อสร้างอัฒจันทร์ขนาด 5,000 ที่นั่ง มีแผนดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2554
ระยะที่ 2 เมืองพัทยาได้ทำข้อตกลงกับ กองทัพภาคที่ 1 ในการก่อสร้างอัฒจันทร์ในตำแหน่งที่นั่งประธาน แต่พบปัญหาด้านภูมิศาสตร์และปฐพีศาสตร์เนื่องจากบริเวณที่ตั้งโครงการคือช่วงเนินเขา ส่วนพื้นด้านล่างเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่ทำให้การก่อสร้างต้องใช้เทคนิคพิเศษ เช่นเดียวกับลู่วิ่งที่ต้องได้มาตรฐาน และต้องใช้งบประมาณมากขึ้นถึง 536 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2557
แต่ในปี 2559 คสช. ได้แต่งตั้งคณะบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา และเข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างต้นปี 2560 ซึ่งพบว่าการก่อสร้างที่นั่งฝั่งอัฒจันทร์ภายในสนามฟุตบอลตามมาตรฐานการกีฬาแห่งประเทศ ขนาด 20,000 ที่นั่ง ที่อยู่ในการดูแลของทหารช่าง มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง ส่วนโครงหลังคามีความคืบหน้า 70%
ต่อมา ก.ย. 2560 สภาเมืองพัทยา ได้เปิดอภิปรายเรื่องการอนุมัติงบอุดหนุนให้โครงการดังกล่าวจำนวน 99 ล้านบาท แต่โครงการไม่มีความคืบหน้าและการจัดซื้ออุปกรณ์มีราคาสูงเกินจริงหลายรายการ
กระทั่งเมืองพัทยาต้องทำสัญญาจ้างเอกชนตามระบบ E-Bidding เข้ามาดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 3 ด้วยงบประมาณอีก 398 ล้านบาท หรือต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 445 ล้านบาทที่ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 12 งวด รวมเป็นเงิน 143.2 ล้านบาท แต่สุดท้ายผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เนื่องจากประสบภาวะในเรื่องของโควิด 19 จนเมืองพัทยาบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างไปในที่สุด
ส่วนความคืบหน้าเรื่องในการหาจัดซื้อจัดจ้าง(TOR) ครั้งใหม่นั้น สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดลิสต์ 52 โครงการรัฐ 'คิดทำทิ้ง' ละลายงบพันล. อาคารร้างเพียบ 39/ประปา13แห่ง