ศาลจังหวัดสมุทรปราการ สั่งคุ้มครองชั่วคราว ไฟเขียว 'สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง' เลิกจ้าง 'สืบพงษ์ ปราบใหญ่' ได้ ชี้นำวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจาก ก.พ. จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีทันที พร้อมให้ขนของออกจากสำนักงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลมีคำสั่งในคดีความทางแพ่ง นัดไต่สวนชั่วคราวกรณี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะโจทก์ ขอไต่สวนคุ้มครองชั่วคราว จากกรณี การใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกปลอม ดำรงตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ของ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดี และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมพวก 28 คน พร้อมขนของออกจากมหาวิทยาลัย
โดยวันนี้ศาลได้ไต่สวนพยานโจทก์ได้ 2 ปาก ระหว่างไต่สวนอ้างส่งเอกสารจำนวน 19 ฉบับโดยโจทก์แถลงขอหมดพยานชั้นไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีฉุกเฉินเพียงเท่านี้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 นำวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. สมัครเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ไม่มีฐานเป็นพนักงาน
โจทก์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงทำให้จำเลยที่ 2 ถึง 28 หลุดพ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไปตามกฎหมาย การที่จำเลยทั้ง 28 คน เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ได้รับความเสียหาย
จึงเห็นควรนำวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษามาใช้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 (2) โดยให้จำเลยทั้ง 28 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ และขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากสำนักงานอธิการบดีอันเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของโจทก์ และรองอธิการบดีของโจทก์ตามฟ้องจนกว่าคดิจะถึงที่สุด
กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และยื่นฟ้อง นายสืบพงษ์ และพวก เนื่องจากนายสืบพงษ์มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลทันที
โดยระบุพฤติการณ์ ได้แก่ 1.ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการสมัครเข้าบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์
จากการตรวจสอบวุฒิการศึกษาปริญญาเอกของ ผศ.สืบพงษ์ ปรากฏว่า "ไม่พบข้อมูลระดับปริญญาเอก" ตามหนังสือลับจากสำนักงาน ก.พ. ลงวันที่ 10 ส.ค. 2565 จึงเป็นที่มาของการฟ้องศาลในครั้งนี้