สธ.เผยไทยพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 แล้ว 27 ราย ชี้อาจแพร่เร็วกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 แต่ต้องติดตามอีก 2 สัปดาห์ ยังไม่พบความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม ขอ ปชช.อย่าตื่นตระหนก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย ว่า
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 พบเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกติดตามใกล้ชิดในปัจจุบัน ได้แก่
-
• สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 1 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5
-
• สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1*, BA.2.75*, CH.1.1*, XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1* และ XBF*
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์สายพันธุ์ทั่วโลก สัปดาห์ที่ 12 (วันที่ 20-26 มีนาคม 2566) สายพันธุ์ XBB.1.5 มีรายงานการตรวจพบจาก 95 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงที่สุด คิดเป็น 47.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบสัดส่วน 17.6%, 7.6% และ 4.0% ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย สัปดาห์ที่ 8-14 เม.ย. 2566 สายพันธุ์ XBB* มีสัดส่วนลดลง แต่ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมาก เป็นลำดับที่ 1 โดย XBB.1.16* พบในตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อช่วงเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 22 ราย และเดือนเมษายน 2566 จำนวน 5 ราย (XBB.1.16 = 26 ราย และ XBB.1.16.1 = 1 ราย) รวม 27 ราย สำหรับ XBB.1.9.1* มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5.1% เป็น 15% ในส่วนของ XBB.1.5 พบมากเป็นลำดับที่ 2 โดยพบสัดส่วน 27.5%
ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงในการก่อโรคที่เพิ่มขึ้น และข้อมูลจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า XBB.1.16 มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ XBB และ XBB.1.5 แต่คุณสมบัติด้านการหลบภูมิคุ้มกันยังคงเหมือนกัน
สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมจาก BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม ได้แก่ E180V, F486P และ K478R รายงานครั้งแรกจากประเทศอินเดียเมื่อเดือนมกราคม 2566 ต่อมาองค์การอนามัยโลกจัดให้ ป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 โดยพบมากที่สุดในประเทศอินเดีย รองมาคือ สหรัฐอเมริกา โดยพบการระบาดมากในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของปี 2566 (วันที่ 20-26 มีนาคม 2566) อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16 มีลักษณะอาการทางคลินิกของโรคเยื่อบุตาอักเสบ คันตา มีขี้ตา ร่วมด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาการดังกล่าวเป็นลักษณะจำเพาะที่เกิดจากสายพันธุ์ XBB.1.16
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การตรวจโควิด 19 ด้วยวิธี Real-time PCR และ ชุดทดสอบ ATK สามารถใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ลูกผสม เพื่อค้นหาผู้ป่วยช่วยในการวินิจฉัยและแยกตัวผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว การทำงานของ ATK อาศัยหลักการทดสอบทางภูมิคุ้มกัน (Immunoassay) ซึ่งเป็นหลักการที่อาศัยการจับกันระหว่างแอนติเจน (antigen) และแอนติบอดี (antibody) โดยส่วนใหญ่ออกแบบให้ตรวจจับโปรตีน N ซึ่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามไม่ส่งผลกระทบ
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ และประสานขอให้ รพ.ทั่วประเทศ ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป สำหรับประชาชนมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และฉีดวัคซีนจะช่วยลดการแพร่เชื้อ และรับเชื้อ โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ยืนยันว่า อาการของ XBB.1.16 ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ อาการคล้ายกันมาก ส่วนอาการเยื่อบุตาอักเสบพบมากในผู้ป่วยเด็กเล็กในอินเดีย และคู่กับมีไข้ ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนักจนเกินไป ขณะที่ ปัจจุบันวัคซีนโควิดยังได้ผลดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำลังเฝ้าระวังสายพันธุ์ ปลัดสธ. สั่งการให้โรงพยาบาล (รพ.) จังหวัดทุกแห่ง ส่งตัวอย่างเชื้อ อย่างน้อย 15 ตัวอย่าง ด้วยเกณฑ์ 1.เสียชีวิต 2.มีอาการรุนแรง 3.เป็นชาวต่างชาติ 4.บุคลากรการแพทย์ 5.กลุ่มผู้ที่ภูมิบกพร่อง และ 6.การติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ ทั้งเล็กและใหญ่ โดยให้ส่งตัวอย่างมายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ฉะนั้น ส่วนกลางจะได้ตัวอย่างสัปดาห์ละ 700 ตัวอย่าง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมหาสายพันธุ์ในระดับประเทศ
ย้ำกลุ่มเสี่ยง 608 รีบรับวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ในวันเดียวกันนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค ซึ่งเทียบเคียงกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยคาดว่าระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชาชนลดลงจากการที่มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุดนานเกิน 6 เดือนเพิ่มขึ้น และพบผู้ติดเชื้อลดลงในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 รวมทั้งพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศ ทำให้จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ ได้ในช่วงเปิดเทอม และจะพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน
โดยสัปดาห์ล่าสุด (วันที่ 9-15 เม.ย. 2566) พบผู้ป่วยรายใหม่ 435 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว โดยเป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัว และการร่วมกิจกรรมที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก ช่วงหลังสงกรานต์ 1-2 สัปดาห์นี้ จึงควรเน้นมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ ทั้งในครอบครัวและสถานที่ทำงาน
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย พบว่าอายุไม่มาก แต่รายหนึ่งมีโรคประจำตัว ส่วนอีกรายได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกินกว่า 3 เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันจึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้เช่นกัน โดยติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน นอกจากนี้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และหากติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล ซึ่งได้จัดเตรียมยาและวัคซีนไว้ให้บริการอย่างเพียงพอแล้ว