‘สศช.’ แพร่ผลประเมินผล ‘5 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับ 12’ ชี้ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบยัง ‘วิกฤติ’ ขณะที่ ‘การติดสินบนเจ้าหน้าที่’ ยังเป็นสิ่งที่ต้องเร่งจัดการ
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' ได้เผยแพร่รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ‘5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12’ ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ ได้รายงานผลการประเมินด้านความมั่นคงและการบริหารจัดการในภาครัฐ ในส่วนของการบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย
โดยระบุว่า แม้การบริหารราชการแผ่นดินมีความก้าวหน้าในด้านการพัฒนารัฐบาล สะท้อนได้จากผลคะแนนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในปี 2564 ที่ประเทศไทยได้มีคะแนนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพิ่มขึ้นจาก 68.10 คะแนนในปี 2561 เป็น 79.65 คะแนน ในปี 2564 ซึ่งเป็นอันดับที่ 25 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ (คะแนน 94.05 ในปี 2564) แต่ศักยภาพด้านดิจิทัลของเจ้าหน้าที่รัฐยังต้องเร่งพัฒนา
ขณะที่การทุจริตประพฤติมิชอบยังเป็นวิกฤติที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) หรือดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน พบว่า ภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของไทยลดลงจาก 37 คะแนนในปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มาอยู่ที่ 35 คะแนนจาก 100 คะแนน ในปี 2564 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายในแผนฯ 12 ที่กำหนดให้ได้คะแนนสูงกว่าร้อยละ 50
โดยประเทศไทยมีอันดับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอันดับที่ 96 เป็นอันดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 5 ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งลดลงจากอันดับที่ 4 ในปี 2560 เนื่องจากสถานการณ์การทุจริตประพฤติมิชอบของไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆก็ตาม
เช่น การจัดทำโครงการมอบรางวัลองค์กรโปร่งใส (NACC Integrity Awards) ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชนและนิติบุคคลอื่นๆ เพื่อเชิดชูองค์กรที่มีความรับผิดชอบจากการปฏิบัติภารกิจ และมีการป้องกันการทุจริตต่างๆ และการจัดตั้งชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนกระตุ้นกระแสสังคมในการการร่วมกันต่อต้านการทุจริตโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อต้านการทุจริตและชี้เบาะแส
ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สร้างพลังของประชาชนให้เกิดจิตสำนึก ปลูกฝังค่านิยมร่วมต้านทุจริต มีจิตสำนึกสาธารณะ และไม่ทนต่อบุคคลที่กระทำการทุจริต และโครงการเยาวชนไทยหัวใจสะอาดที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการปราบปรามทุจริต พร้อมทั้งมีทัศนคติไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน และมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาประเด็นการติดสินบนเจ้าหน้าที่และการทุจริต (ตามผลการจัดทำโดย IMD) พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนลดลงจาก 43 คะแนนในปี 2560 เหลือ 39 คะแนนในปี 2564 เนื่องจากปัญหาการติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่ยังคงต้องมีการจัดการ เช่น สินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน และแรงงานลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการพิจารณาอนุมัติอนุญาตยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่มาก แม้ภาครัฐจะมีการใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพและความโปร่งใสตรวจสอบได้แล้วก็ตาม
ส่วนระดับการรับรู้ว่าการทุจริต เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มีคะแนนลดลงจาก 41 คะแนนในปี 2560 เหลือ 36 คะแนนในปี 2564 และเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ มีคะแนนลดลงจาก 40 ในปี 2560 เหลือ 35 ในปี 2564 เนื่องจากยังขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ
สำหรับประเด็นการทุจริตในภาครัฐของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการเกี่ยวกับสินบน และการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม พบว่า คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 23 คะแนนในปี 2560 เป็น 26 คะแนนในปี 2564 จากการกลับมาจัดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางการเมืองแก่ภาคประชาชนและเพิ่มบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น
"จากผลคะแนนแสดงให้เห็นว่า การรับรู้การทุจริตของประเทศไทยยังต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการสร้างความโปร่งใสแก่การดำเนินงานภาครัฐ" รายงานฯระบุ
นอกจากนี้ จากรายงานสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า จำนวนการกล่าวหาร้องเรียนภาครัฐ (ไม่นับเรื่องซ้ำ กรณียุติเรื่อง และเรื่องที่ไม่รับพิจารณาหรือไม่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.) ในปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 5,921 เรื่อง ลดลงจากปี 2563 จำนวน 6,060 เรื่อง และปี 2562 จำนวน 6,773 เรื่อง
โดยประเภทคำกล่าวหา 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ (2) กระทำการเกินอำนาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ และ (3) การยักยอก/เบียดบังเงินหรือทรัพย์สินทางราชการ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงรณรงค์และด าเนินการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนที่สามารถแจ้งเบาะแสเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางที่หลากหลายทั้งแจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นต้น และช่องทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ และออนไลน์
รวมทั้งเครือข่ายกับองค์กรภาคเอกชนที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมการศึกษาและวิจัยค้นคว้า ส่งเสริมให้นักศึกษามีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ
อ่านรายงานฉบับเต็ม : รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ‘5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12’