สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งเวียนหนังสือชี้ขาดอำนาจสอบสวน คดีทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หลังพบยอดผู้ต้องหารวมกว่า 934 ราย ภูมิลําเนากระจายหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ระบุชัดให้ พนง.สอบสวนสถานีตำรวจภูธรพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน หลังมีกรณีไม่แน่ชัดพนง.สอบสวนคนใดในระหว่างหลายจังหวัดควรเป็นผู้รับผิดชอบ ยกที่พื้นที่ สภ.กันตัง ตัวอย่าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งผู้บริหารในหน่วยงานทุกระดับ ชี้ขาดเขตอำนาจสอบสวน กรณีปรากฏข้อมูลว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามให้ดําเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันซึ่งเป็นโรงแรมจํานวน 448 ราย และร้านค้าจํานวน 486 ราย รวมทั้งสิ้น 934 ราย ซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ หลังมีกรณีไม่แน่ชัดพนักงานสอบสวนคนใดในระหว่างหลายจังหวัดควรเป็นผู้รับผิดชอบ
โดยการชี้ขาดเขตอำนาจสอบสวนดังกล่าว เป็นผลมาจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ส่งสำเนาสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 415/2564 ของสถานีตำรวจภูธรกันตัง ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยนางสาวณัฏฐ์ธมน ทาวุฒิ ผู้กล่าวหา และ นายสมโชค สกุลส่องบุญศิริ กับพวกรวม 8 คน ผู้ต้องหา ฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและเป็นการกระทําเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออก ได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชําระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชําระด้วย เงินสด และร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาชี้ขาด
กรณีไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนในระหว่างหลายจังหวัดควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 21 วรรคสอง
โดยอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ ผู้บังคับการปราบปรามมีบันทึกข้อความ บก.ป. ที่ 0026.2/2285 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ถึงผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 9 เรื่อง ส่งคําร้องทุกข์ ให้พนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุรับผิดชอบสอบสวน และต่อมาสถานีตํารวจภูธรกันตัง (จังหวัดตรัง) ได้รับคําร้องทุกข์จากกองบังคับการปราบปรามไว้ทําการสอบสวนเป็นคดีอาญา ที่ 415/2564 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 และส่งสํานวนพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการสํานักงาน อัยการจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ต้องหากับพวกรวม 8 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับร้านครัวฮาลาลและโรงแรมศิริชัยเป็นผู้แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อขออนุมัติการ จ่ายเงินจากรัฐบาลของโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้กระทําผิดในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรกันตัง ส่วนสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ผู้อนุมัติเงินในโครงการเราเที่ยวด้วยกันตั้งอยู่ในเขตท้องที่ สถานีตํารวจนครบาลพญาไท(กรุงเทพมหานคร) ส่วนการโอนเงินตามที่ได้รับอนุมัติให้จ่ายเงินจาก สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เข้าบัญชีธนาคารของผู้ต้องหากับพวก คําสั่งโอนเงินกระทําขึ้นที่ ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สํานักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจนครบาลลุมพินี (กรุงเทพมหานคร) ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้มีลักษณะเป็นคดีที่ความผิดส่วนหนึ่งกระทําในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (2)
การพิจารณาอํานาจพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 นั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายของตํารวจนั้น ๆ คือ ประมวลระเบียบการตํารวจ เกี่ยวกับคดี ลักษณะ 8 การสอบสวน บทที่ 2 อํานาจการสอบสวน ข้อ 218 ประกอบคําสั่งกองบัญชาการ ตํารวจสอบสวนกลาง ที่ 132/2547 เรื่อง มาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสืบสวนสอบสวน คดีอาญา ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2547 ซึ่งเป็นคําสั่งที่ใช้ในขณะสอบสวนสํานวนคดีนี้โดยไม่อาจนําคําสั่ง ที่ออกภายหลัง คือ คําสั่งสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ที่ 437/2565 เรื่อง อํานาจการสอบสวนของ หน่วยงานในสังกัดสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ลงวันที่ 28 กันยายน 2565 มาใช้บังคับกับสํานวนคดีนี้ เนื่องจากหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอํานาจการรับเรื่องสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามมีความแตกต่าง จากสถานีตํารวจนครบาลและสถานีตํารวจภูธร โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามจะทําการสอบสวนคดีอาญาได้นั้นต้องได้รับอนุญาตให้ทําการสอบสวนจากผู้มีอํานาจเสียก่อน
เมื่อคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามได้รับอนุญาตให้ทําการสอบสวนจากผู้มี อํานาจอนุญาตตามประมวลระเบียบการตํารวจเกี่ยวกับคดีและตามคําสั่งสํานักงานตํารวจแห่งชาติดังกล่าว ดังนั้น พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามจึงไม่อาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ ตามข้อเท็จจริงสถานีตํารวจภูธรกันตัง ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุส่วนหนึ่ง และได้ตัวผู้ต้องหามาดําเนินคดี จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ก) จึงชี้ขาดให้พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรกันตั้งเป็นพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 21 วรรคสอง
ทั้งนี้ อัยการสูงสุดเห็นว่า เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามให้ดําเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันซึ่งเป็นโรงแรมจํานวน 448 ราย และร้านค้าจํานวน 486 ราย รวมทั้งสิ้น 934 ราย ซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับสํานวนการสอบสวนคดีซึ่งมีความเกี่ยวพันกับโครงการ เราเที่ยวด้วยกันซึ่งมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเช่นเดียวกับคดีนี้ จึงมอบให้อธิบดีอัยการ สํานักงานอัยการชี้ขาดอัยการสูงสุด แจ้งเวียนคําชี้ขาดของอัยการสูงสุดเรื่องนี้ ให้ทราบโดยทั่วกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า คำชี้ขาดเขตอํานาจสอบสวนดังกล่าว ได้มีการแจ้งเวียนไปยังรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบตีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสถาบัน เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงาน เพื่อให้ทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
ลงนามโดยนางภาวนา ยิ่งวิริยะ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด (ดูหนังสือประกอบ)