‘กรมทางหลวง’ เปิดโผ 5 โปรเจ็กต์เร่งผลักดันต่อหลังได้ ครม.ใหม่ช่วง ก.ค.-ส.ค.66นี้ วงเงินรวม 4.16 แสนล้านบาท ชู ‘วงแหวนตะวันตก-ต่อขยายโทลล์เวย์ถึงบางปะอิน’ เป็นโครงการเร่งด่วนชุดแรกที่พร้อมที่สุด คาดไม่เกินปี 66 ได้รับอนุมัติก่อน 2 โครงการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 เมษายน 2566 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในช่วงหลังการเลือกตั้งที่คาดว่าจะได้รัฐบาลช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2566 นี้ กระทรวงมีแผนงานเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 5 โครงการ วงเงินรวม 416,136 ล้านบาท ประกอบด้วย
- โครงการมอเตอร์เวย์ วงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก (M9) ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือที่รู้จักในโครงการวงแหวนตะวันตก ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท
- โครงการต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ระยะทาง 29 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท
- โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงนครปฐม - ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 71,995 ล้านบาท
- โครงการมอเตอร์เวย์ช่วงหาดใหญ่ - ชายแดนไทย/มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 62.4 กม. วงเงิน 40,787 ล้านบาท
- โครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ ช่วงท่าเรือแหลมฉบัง - นครราชสีมา ระยะทาง 125 กม. วงเงิน 215,961 ล้านบาท
ซึ่งจาก 5 โครงการข้างต้น มีโครงการที่พร้อมจะผลักดันมากที่สุด เพื่อขออนุมัติได้ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการวงแหวนตะวันตกและโครงการต่อขยายโทลล์เวย์
@วงแหวนตะวันตก-ต่อขยายโทลล์เวย์พร้อมสุด
สถานะปัจจุบันของทั้ง 2 โครงการ ในส่วนของโครงการวงแหวนตะวันตก คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) อนุมัติรูปแบบการลงทุนของโครงการแล้ว โดยกำหนดให้ลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP Net Cost) ระยะเวลาสัญญา 34 ปี (ออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี และบริหารงานระบบ 30 ปี) ขณะที่รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างทำเล่มแก้ไขเพิ่มเติม โดยคาดว่ารายงาน EIA จะผ่านการพิจารณาในปี 2566
ส่วนไทม์ไลน์การขออนุมัติโครงการ หากมีรัฐบาลใหม่ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2566 ทางกรมทางหลวงพร้อมจะเสนอโครงการมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม. ใหม่ทันที หากได้รับการอนุมัติในปี 2566 ก็จะดำเนินการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน พร้อมกับการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนทั้งหมดภายในปี 2566 ก่อนที่จะลงนามในสัญญาและเริ่มก่อสร้างช่วงปี 2567 แล้วเสร็จประมาณปี 2571
สำหรับแนวเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ด้านทิศใต้, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว และทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง มีทางขึ้น – ลง พระราม 2 ทางขึ้นเชื่อมกับถนนเอกชัย ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และถนนนครอินทร์ ทางแยกต่างระดับบางใหญ่เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี จากนั้นแนวเส้นทางทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านสถานีตลาดบางใหญ่ สถานีคลองไผ่ บางบัวทอง และสิ้นสุดโครงการบริเวณห่างจากทางแยกต่างระดับบางบัวทองประมาณ 1 กม. รวมระยะทางประมาณ 38 กม.
แนวเส้นทางโครงการมอเตอร์เวย์ วงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก (M9) ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง
ที่มา: กรมทางหลวง
@เตรียมศึกษาต่อขยายวงแหวนตะวันตกไป บางปะอินต่อ
ขณะที่ส่วนต่อขยายของโครงการคือ ช่วงบางบัวทอง - บางปะอิน วงเงิน 23,025 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 และ 3902 สายทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ขนาด 3 ช่องจราจร ระหว่าง กม.59+988 - กม.86+559 ระยะทางประมาณ 35.57 กม. วงเงิน 7,376.59 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายถนนอีก 4 เลน (ไป-กลับ) ตลอดแนวเส้นทางให้แล้วเสร็จก่อน
โดยแบบของโครงการออกแบบเสร็จแล้ว กำลังพิจารณาว่ากรมจะดำเนินโครงการเอง หรือจะใช้รูปแบบ PPP และจะเสนอให้อยู่ในแผนกู้เงินปี 2565-2570 ต่อไป
@ดันต่อขยายโทลล์เวย์ถึงบางปะอินปี 66
ส่วนโครงการต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ไปบางปะอิน ปัจจุบันบอร์ด PPP เห็นชอบโครงการแล้วเมื่อเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ส่วนรายงาน EIA คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติรายงานไปตั้งแต่ปี 2564 แล้ว สำหรับรูปแบบการลงทุน อยู่ในรูปแบบ PPP Gross Cost (รัฐลงทุนก่อสร้างทั้งหมดแล้วจ้างเอกชนบริหารจัดการอายุสัมปทาน 30 ปี) คาดว่าจะเสนอให้ ครม.ใหม่เห็นชอบในช่วงเวลาเดียวกับโครงการวงแหวนตะวันตก ก่อสร้างช่วงปี 2567-2570 และเปิดให้บริการปี 2571
รูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับตามแนวถนนพหลโยธิน โดยก่อสร้างต่อขยายตั้งแต่ช่วงรังสิต - บางปะอิน รวมระยะทางประมาณ 22 กม. ขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ช่องจราจรกว้าง 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 1 เมตร จุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 8 แห่ง และงานอาคารที่เกี่ยวข้อง เช่น อาคารด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง อาคารศูนย์ควบคุมกลาง อาคารกู้ภัย และอาคารสถานีตำรวจทางหลวง
แนวเส้นทาง เริ่มต้นที่ช่วงเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลล์เวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของถนนพหลโยธิน) และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยตรงกับโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ครอบคลุมพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมระยะทางประมาณ 22 กม.
ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5)
ที่มา: กรมทางหลวง