สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์ ขอ รบ.ตั้งหน่วยพิเศษปราบปรามมิจฉาชีพ สืบค้นบุคลากรของรัฐเอี่ยว เรียกค่าไถ่ข้อมูลประชาชนไทย 55 ล้านคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวว่ามีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไทยกว่า 55 ล้านคน โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ระบุว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งใช้ศักยภาพจากทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และเทคโนโลยีของรัฐให้เต็มกำลังในการปกป้องข้อมูลประชาชนจากการโดนขโมยข้อมูล ไม่ว่าเป็น การแฮกข้อมูลจากมิจฉาชีพเพื่อการเรียกค่าไถ่ หรือจากบุคคลใด ๆ ที่นำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ เป็นไปเพื่อสาธารณะ
พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานพิเศษเฉพาะกิจ เพื่อปราบปรามมิจฉาชีพที่เรียกค่าไถ่ และสืบค้นบุคคลากรของรัฐที่ปล่อยข้อมูลลับรั่วไหลนี้มาลงโทษ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในข้อมูลของประชาชน และกอบกู้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่ประชาชนทั้งประเทศได้มอบข้อมูลส่วนตัวให้หน่วยงานรัฐเก็บรักษา
จากเหตุการณ์กรณีข่าวการแฮกข้อมูลเรียกค่าไถ่โดยมิจฉาชีพที่อ้างว่า เป็นข้อมูลส่วนตัวของคนไทย กว่า 55 ล้านรายการ โดยได้มาจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง รวมทั้งมีการโพสต์ลักษณะข่มขู่หน่วยงานและ ประชาชนในวงกว้าง ได้สร้างความกังวลต่อประชาชนทั่วไปเป็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บริโภค เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญเหล่านี้อาจถูกแอบอ้างนำไปใช้ในการเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ รวมถึง ข้อมูลทางการเงิน หรือการนำข้อมูลไปใช้เพื่อการก่ออาชญากรรมด้านดิจิตอลหรือต่อความปลอดภัยส่วนบุคคล
โดยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 สภาผู้บริโภคในฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณี ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด มาดำเนินคดีอย่างรวดเร็วจริงจัง และแถลงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้กระจ่างแจ้ง ทั้งขอบเขตความ เสียหายของข้อมูล แหล่งของข้อมูลที่รั่วไหล รวมถึงมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะไม่ให้ เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพื่อให้สังคมร่วมรับรู้ข้อเท็จจริง และสร้างความเชื่อมั่น ต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนให้เกิดความเสียหายในทุกมิติ
2. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่รั่วไหลแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างจริงจัง และเสนอแนวทางในการเยียวยาแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
3. ขอให้มีการนำนโยบายในการคุ้มครองข้อมูลพลเมืองในยุคดิจิทัล ให้เป็นวาระแห่งชาติ ในยุค เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น
4. ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับสิทธิผู้บริโภคและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มากขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในทุกระดับ
สภาผู้บริโภคขอให้รัฐบาลและบุคคลากรในหน่วยงานของรัฐพึงตระหนักถึงความรับผิดชอบสูงสุดต่อ ข้อมูลประชาชน ยึดมั่นต่อหลักการตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับ ใช้ในปีที่ผ่านมา และเคารพต่อเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ได้ รับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 32 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตาม วรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
โดยรัฐธรรมนูญนี้ ได้บัญญัติถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐและความ สงบเรียบร้อยของประชาชนไว้ในมาตรา 52 รวมถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้ กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามมาตรา 53 และตามมาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มี ประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอให้รัฐบาลดำเนินการตามหน้าที่อย่างเร่งด่วนและเคร่งครัดเพื่อรักษาความ ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและธรรมาภิบาลของรัฐบาล ที่จะสร้างความมั่นใจต่อประชาชนและผู้บริโภคต่อความ ปลอดภัยส่วนบุคคล และเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ