ครม.รับทราบรายงาน ‘ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ’ พบว่าสิ่งปลูกสร้าง 4 โครงการ 441 ล้าน ถูกทิ้งร้าง แต่ได้หารือแนวทางแก้ไขแล้ว พร้อมระบุ 4 กลุ่มโครงการมีปัญหา ‘สร้างเสร็จแต่ไม่ได้ใช้งาน-ก่อสร้างล่าช้า’
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างของส่วนราชการระดับจังหวัดที่ใช้งบประมาณแผ่นดินของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยรายงานดังกล่าว ผู้ตรวจราชการฯ พบว่า มีสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างน้อย 4 แห่ง วงเงินรวม 441.37 ล้านบาท ได้แก่
1.สนามกีฬา อ.ทับสะแก จ.ประจบคีรีขันธ์ ของกรมพลศึกษา ซึ่งได้รับจัดสรรงบ 24.48 ล้านบาท เริ่มสัญญา 20 ม.ค.2559 สิ้นสุดสัญญา 18 ม.ค.2561 แต่ปรากฏว่า หลังจากสนามกีฬา อ.ทับสะแก ก่อสร้างแล้วเสร็จ สนามกีฬาดังกล่าวถูกทิ้งร้างหรือไม่ใช้ประโยชน์ เนื่องจาก อบต.แสงอรุณ ไม่สามารถรับโอนสนามกีฬาดังกล่าวไปดูแลได้ เพราะ อบต.แสงอรุณ มีขนาดเล็ก ขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมบำรุงและจัดหาเจ้าหน้าที่ไปดูแลรักษาสนามกีฬา
ทั้งนี้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ได้หารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และขอให้กรมพลศึกษาเร่งสำรวจและปรับปรุงสนามกีฬาให้สมบูรณ์พร้อมใช้งาน โดยขณะนี้กรมพลศึกษาอยู่ระหว่างจัดทำ TOR เพื่อซ่อมบำรุงสนามกีฬา ซึ่งจะใช้งบประมาณ 5 แสนบาท โดยหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีการส่งมอบให้ อบต.แสงอรุณ และให้ อบต.แสงอรุณ จัดเก็บสถิติผู้ใช้งาน และขอรับเงินสนับสนุนเฉพาะกิจจากกรมพลศึกษาหรือหน่วยงานอื่นต่อไป
2.พุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาคร ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับจัดสรรงบ 173.94 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2559 และแล้วเสร็จในปี 2559 พบว่า ปัจจุบันศาสนสถานดังกล่าว มีสภาพเสื่อมโทรม ขาดการบำรุงรักษา และเกิดการเสียหายหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว
โดยหัวหน้าผู้ตรวจราชการฯ ในฐานะประธานกรรมการธรรมาภิบาล (ก.ธ.จ.) สมุทรสาคร ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณ รวมทั้งจัดหาบุคลากรเพื่อบำรุงรักษาพุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทั้งมีการเร่งรัดกระบวนการมอบภารกิจพุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาครให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้มีการตั้งงบประมาณในการบำรุงรักษาต่อไป
3.ศูนย์กระจายสินค้าพืชพลังงานทดแทนของเทศบาลตำบลวังทอง อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ของเทศบาลตำบลวังทอง งบประมาณ 49 ล้านบาท โดยปัจจุบันศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ประชาชนหรือเกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากเทศบาลตำบลวังทอง ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินในการก่อสร้างจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ โดยขณะนี้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ได้ให้จังหวัดเข้าไปแก้ปัญหาการในการขออนุญาตใช้ที่ดินโดยเร่งด่วน
4.โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในโครงการส่งเสริมความโดดเด่นของผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรและประมง กิจกรรมการเพิ่มมูลค่าจากน้ำยางสด บ้านตาลเดี่ยว ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ งบประมาณ 193.95 ล้านบาท โดยโครงการนี้ได้ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว 8 หลัง แต่ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ เนื่องจากไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย และไม่มีระบบจ่ายไฟฟ้าหน่วยย่อยจ่ายเข้าโรงงาน
ส่วนโรงงานยางแผ่นรมควัน จำนวน 3 หลัง ซึ่งมีการก่อสร้างเสร็จแล้วนั้น แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบ 5.1 ล้านบาท ให้ผู้รับจ้างได้ เนื่องจากงบประมาณถูกพับไปโดยผลของกฎหมายเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2565 นอกจากนี้ การที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬสั่งเลิกชุมชนสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ใช้จัดทำโครงการ ส่งผลให้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราคาไม่สามารถดำเนินกิจการได้
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว
ขณะเดียวกัน รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการประสานงานกับจังหวัดต่างๆ พบว่าจังหวัดส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการสำรวจสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งร้างตามมาตรา 62 ภายใต้ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2565 ที่บัญญัติว่า
“ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สำรวจและทำรายงานสิ่งปลูกสร้าง ครุภัณฑ์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอื่นในจังหวัด ซึ่งไม่มีการดูแล บำรุงรักษา ไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ รวมทั้งที่ชำรุดทรุดโทรมจนไม่อาจใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่จัดซื้อจัดจ้างมาโดยแยกเป็นประเภท และระบุหน่วยงานผู้จัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานผู้ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา หรือใช้ประโยชน์ และสาเหตุที่ก่อให้เกิดสภาพดังกล่าวพร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้กลไกของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) ซึ่งเป็นผู้แทนภาคประชาชนอยู่ในพื้นที่ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ในการสำรวจสิ่งปลูกสร้างระดับจังหวัดที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก่อสร้างไม่แล้วเสร็จหรือสร้าง แล้วทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตรวจติดตามในปีงบฯ 2566 ต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีทุกเขตตรวจราชการ สามารถรวบรวมสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ หรือดำเนินการแล้วเสร็จแต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นประเภทต่างๆ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้
1.โครงการก่อสร้างสนามกีฬา ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและยังไม่แล้วเสร็จ/ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพลศึกษา รวมถึงการก่อสร้างสนามกีฬาที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ แต่ให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยดำเนินการ ซึ่งมีหลายแห่งที่ดำเนินการในหลายพื้นที่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้จะได้มีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป
2.โครงการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารสำนักงาน และอาคารบ้านพัก ซึ่งมีการดำเนินการในหลายพื้นที่แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ จากการประสานเบื้องต้นทราบว่าสาเหตุที่ไม่แล้วเสร็จมาจากหลายปัจจัย อาทิ ผู้รับเหมาฯขาดแคลนแรงงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ขอยกเลิกสัญญาจ้าง บางแห่งผู้รับเหมาฯดำเนินการก่อสร้างล่าช้า ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลา หรือไม่ดำเนินการตามแบบรูปที่กำหนด หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่มีการตรวจรับงานหรือขอยกเลิกสัญญา และผู้รับเหมาก่อสร้างได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
3.โครงการก่อสร้างตลาด ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP และศูนย์สาธิตการตลาด ซึ่งมีการดำเนินการในหลายพื้นที่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ จากการประสานเบื้องต้นทราบว่าสาเหตุที่ไม่แล้วเสร็จมาจากหลายปัจจัย อาทิ บางแห่งยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ที่ดินในการก่อสร้างจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และบางแห่งหลังจากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไม่มีผู้สนใจเช่าพื้นที่ในการประกอบกิจการ
4.โครงการระบบประปาหมู่บ้าน มีการดำเนินการแล้วเสร็จในหลายพื้นที่ แต่ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการดำเนินโครงการ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการ หรืออุปกรณ์ประปาเกิดการชำรุด สูญหาย