วงเสวนาชี้พรรคการเมืองขายฝันค่าแรงขั้นต่ำ หวั่นเศรษฐกิจพัง ย้ายฐานการผลิต ย้ำควรคำนึงถึงระบบประกันสังคม แนะรัฐทำโครงสร้างระบบแรงงานทั้งใน-นอกระบบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 25666 หลักสูตรอบรมผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ 'ค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝันแรงงานไทย?'
น.อ.นพ.วิทยา จักรเพ็ชร ประธานรุ่นผู้อบรมหลักสูตร บสก. รุ่นที่ 11 กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันว่าแรงงานในระบบได้รับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตรา 328-354 บาทต่อวัน ซึ่งมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 ประกอบกับใกล้การเลือกตั้งที่จะมีในช่วงเดือน พ.ค. 2566 หลายพรรคการเมืองเริ่มประกาศชนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่สูงขึ้น จนทำให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมว่า ค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำในระดับที่เหมาะสมควรจะเท่าไหร่กับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ครั้งจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้งจะมีทั้งกลุ่มผู้ได้ประโยชน์และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
"กลุ่มแรงงานและระบบเศรษฐกิจถือว่าเป็นกำลังซื้อหลักในการจับจ่ายใช้สอยมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจให้มีความคึกคัก แต่ต้องยอมรับว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง คือ ผู้ประกอบการและโรงงาน เพราะมีต้นทุนด้านการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคแรงงาน ดังนั้นเมื่อต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างไร เพราะไทยเองถือว่าเป็นฐานกำลังการผลิตที่สำคัญยิ่งในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะมีการโยกย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่" น.อ.นพ.วิทยา กล่าว
นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อเพื่อคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมบนพื้นฐานของความเสมอภาคและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งจะเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาและยังไม่มีครอบครัวและเข้าสู่ตลาดแรงงานครั้งแรก
ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัย นโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เปิดเผยถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 ว่า ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 308 ถึง 330 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับจังหวัด ต้องบอกว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 4 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งการใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ มีประสิทธิภาพสูงและควรครอบคลุมถึงการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย และค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ค่าจ้างเริ่มต้นของแรงงานมีฝีมือในการเข้าสู่ตลาดแรงงานซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจทำให้เกิดปัญหาการปลดแรงงานดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างแรงงานควรเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านคือ ต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการรับภาระค่าแรง ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า หากเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้มากขึ้น ต้นทุนค่าแรงอาจไม่เพิ่มขึ้น 30-40% เท่ากับค่าแรงที่ปรับขึ้นและด้านการใช้จ่ายของประชาชน การเพิ่มค่าแรงอาจไม่ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจไม่สูงมาก
“ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานได้มากพอสมควรและไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อสัดส่วนการจ้างงานและสัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของแรงงานทักษะต่ำ แต่เป็นภาพลวงตาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิต ทั้งนี้ผลกระทบการเคลื่อนย้ายที่น่ากังวลที่สุดอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำในวัยหนุ่มสาวอายุ 15-24 มากกว่า” รศ.ดร.ยงยุทธ ระบุ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า พรรคการเมืองต่างใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงด้วยการชูประเด็นด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งทำได้จริง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรือ งบจากภาครัฐแต่อย่างใด โดยหากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด และ สุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งนี้ ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติ ตามอัตราเงินเฟ้อ และ ต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง
“เป้าหมายคือ นายจ้างลูกจ้างต้องอยู่ด้วยกันได้เหมือนปาท่องโก๋ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้าง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ ของ องค์กรไตรภาคี ที่ทำกันมาแล้วกว่า 30 ปี การเมืองอย่างเข้ามาแทรกแซงทำลายต้นทุนของชาติ และ ประชาชนชน ก็ต้องรู้เท่าทัน ว่าพรรคการเมืองต่างๆ เค้าใช้การตลาด 100 % เพื่อให้ได้เข้ามาในสภาฯ” นายธนิต กล่าว
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบ คือ แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคการจ้างงานที่เป็นทางการ ปี 2565 คนมีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคนซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำไม่คุ้มครอง ที่เห็นได้ชัดคือในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ ไม่สามารถที่จะฝันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้ อีกทั้งบางอาชีพของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาก็ยากที่จะฟื้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแต่หลายอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้กลับมาทั้งหมด
“คำถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทยหรือไม่ เราอยู่นอกระบบของการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะประกาศอะไร จะเป็นฝันของใครไม่รู้ แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบกลุ่มที่มีผู้จ้างงานหรือนายจ้างด้วย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องประกันรายได้กลุ่มคนเหล่านี้ ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีรายได้ให้เท่าเทียมกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบ” นางสุนทรี กล่าว
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงไม่เพียงต่อการใช้จ่ายของแรงงาน ดังนั้น ควรมาไปดูที่โครงสร้างมากกว่าการกำหนดเรื่องของตัวเลขอย่างเดียว ควรมาหารือกันว่าค่าจ้างเท่าไหร่ที่แรงงานอยู่ได้ อยู่ได้ปัจจุบันเป็นเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณทุกพรรคที่พยายามเสนอนโยบายค่าแรง แต่ทางปฏิบัติพูดแล้วต้องทำ และต้องทำให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายค่าแรงบางยุค ไปไม่ถึงจุดที่หาเสียงเอาไว้