'สำนักข่าวอิศรา' คว้ารางวัล 'อิศรา อมันตกุล' ประเภทข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยม 'ตามคืนทรัพย์สิน 600 ล้าน ยักยอกเงินครั้งมโหฬารในสหกรณ์ออมทรัพย์เกษตร'
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2566 มูลนิธิอิศรา อมันตกุล และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประกวดข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ ภาพข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อออนไลน์ และข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รางวัลอิศรา อมันตกุล โดยมีพิธีมอบรางวัล เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณให้แก่สื่อมวลชน เป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพและสร้างเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในปี 2565 มีผลงานที่ได้รับรางวัลประจำปี ดังนี้
โดย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับรางวัลรวม 1 รางวัล ได้แก่
รางวัลยอดเยี่ยมประเภทข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์ คือ ตามคืนทรัพย์สิน 600 ล้าน ยักยอกเงินครั้งมโหฬารในสหกรณ์ออมทรัพย์เกษตร
สำหรับผลการประกวดประจำปี 2565 มีรายละเอียด ดังนี้
ประเภทข่าวหนังสือพิมพ์
ในปี 2565 ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม แต่มีรางวัลชมเชย 1 รางวัล
รางวัลชมเชย ได้แก่ ตีแผ่ขบวนการทุจริต สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง นับพันล้าน จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ประเภทข่าวออนไลน์
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ ตามคืนทรัพย์สิน 600 ล้าน ยักยอกเงินครั้งมโหฬารในสหกรณ์ออมทรัพย์เกษตร จาก สำนักข่าวอิศรา
- ปปง.ยึดทรัพย์ ผจก.สหกรณ์เกษตรฯคดีทุจริตเงิน 600 ล.ผู้เสียหายยื่นคุ้มครองสิทธิใน 30 วัน
- ทะลุ 600 ล.! เปิดยอดเสียหายคดีทุจริตสหกรณ์เกษตรฯล่าสุด -มีอดีตอธิบดีโดนด้วยหลายล้าน
รางวัลชมเชย ได้แก่ 1.ข่าวน้องน้ำแข็ง : ความตายของเด็ก 8 ขวบ ที่บอกให้เราเตรียมรับมือกับความสูญเสีย จาก The Matter 2.อย่าไว้ใจงานวิชาการ -บทเรียนจากรายงานศึกษาผลกระทบควบรวมทรู-ดีแทคในมือ กสทช. จาก The101.world
ประเภทภาพข่าวออนไลน์
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ เพื่อนมนุษย์ โดย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ จาก Spacebar
รางวัลชมเชย ได้แก่ 1.แว้นลุยน้ำ โดย รชานนท์ อินทรรักษา จาก PPTV 2.กิจปฏิบัติ โดย ชำนาญวุฒิสุขุมวานิช จาก สำนักข่าวไทย อสมท.
ประเภทข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ โครงการผันน้ำยวม จาก ศูนย์พัฒนาการสื่อสารภัยพิบัติ ไทยพีบีเอสประเภทข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รางวัลชมเชย ได้แก่ 1.การเดินทางไกล 1,079 กิโลเมตรเพื่อทวงคืนน้ำพริกปลาทู จาก Hard Stories 2.ไอ้โง่ ความเงียบ สันดอนทราย และความตายของอ่าวปัตตานี ภายใต้ชื่อ พสกนิกรรอบอ่าวสู่สันติสุขจาก way magazine
อีกทั้งภายในงาน มีปาฐกถาพิเศษ 'การพัฒนาที่ยั่งยืนกับทางรอดประเทศไทย' 'Sustainable development and the future of Thailand' โดย น.ส. กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย
น.ส.กีต้า กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เข้ามาบรรยายในวันนักข่าว ทางสหประชาชาติมีความประสงค์ที่จะสานความร่วมมือกับสมาคมนักข่าวไทย เพื่อพลิกโฉมในการนำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้สื่อข่าวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อีกทั้งความเชื่อใจที่สาธารณะชนมีต่อสื่อมีความสำคัญมาก ผู้สื่อข่าวสามารถทำได้ด้วยการรายงานข้อเท็จจริง
ในสังคมปัจจุบันที่แบ่งขั้ว เราต้องลดการแบ่งฝ่าย ร่วมมือกันสร้างสรรคประโยชน์สุขของทุกคน ให้ความสำคัญกับการพลิกโฉมสิ่งร้ายให้เป็นดี มุ่งหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือ สื่อเป็นส่วนสำคัญในการพลิกโฉมสู่สื่อสีเขียว ประเทศไทยมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความสำคัญในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เนื่องจากมีรบ.ที่มองการณ์ไกล ที่มีนโยบายการลดการปล่อยคาร์บอน ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ร่วมมือดำเนินการตามนโยบายเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน ทุก ๆ ธุรกิจต้องยืนหยัดในการดำเนินธุรกิจไม่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คำสัญญาของภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญต่อบริบทของโลก
แต่อย่างไรก็ตามโลกกำลังถอยหลังไปสู่ปี 2016 ซึ่งความเสื่อมถอยมีสาเหตุจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง(Climate Change) โควิด 19 การขาดแคลนอาหาร แต่ประเทศไทยยังคงดำรงอยู่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาในการลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การพลิกโฉมสู่เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยต้องอาศัยการร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย
คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ควรสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงความสามารถและนำความสามารถเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์มากขึ้น
งานของสื่อเป็นกุญแจสำคัญที่นำแสงสว่างมาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถพลิกโฉมสังคมไทยให้เป็นสังคมสีเขียว สหประชาชาติยินดีสนับสนุนสื่อมวลชน