ป.ป.ช.ภาค 4 ลงพื้นที่สอบโครงการชลประทานนครพนม-สกลนคร 193 โครงการ มูลค่ารวมนับพันล้าน หลังมีเรื่องร้องเรียนก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบ ใช้แรงงานผี ผลลงพื้นที่พบมีข้อมูลไม่สอดคล้องกันหลายประเด็น ทั้งการเบิก OT การจ้างแรงงานเทียบเวลาทำงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2566 นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 นายสมพจน์ แพ่งประสิทธิ์ ผู้อำนายการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดนครพนม และนางสาวพูนศรี พงศ์เพชรดิถ ผู้อำนายการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สังเกตการณ์การดำเนินโครงการของโครงการชลประทานนครพนม และโครงการชลประทานสกลนคร หลังจากได้รับเบาะแสข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างของโครงการ ในปี พ.ศ. 2566 จำนวน 193 โครงการ ว่ามีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบมาตรฐานกำหนด การจ้างแรงงานผี ซึ่งมีการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โครงการชลประทานนครพนม ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 879,285,975.87 บาท โครงการชลประทานสกลนคร 401,983,300 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมีแหล่งน้ำต้นทุนที่มีคุณภาพเพื่อการจัดการอย่างสมดุล และสามารถบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้ทุกพื้นที่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 จะได้ดำเนินการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำภาค 4 ต่อไป
รองเลขาธิการฯ ภาค 4 เปิดเผยว่า “การลงพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งนี้ ดำเนินการตามแนวทางป้องกันการทุจริตเชิงรุก หลังได้รับเบาะแสข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างของโครงการชลประทานในเขตพื้นที่รับผิดชอบภาค 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีข้อมูลที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ต้องลงพื้นที่ติดตามในหลายประเด็น
เช่น การดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ขั้นตอนการดำเนินงานในแต่ละแผนงานโครงการมีความโปร่งในมากน้อยเพียงใด มีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างหรือไม่ เป็นต้น ข้อมูลในวันนี้พบว่าการดำเนินงานบางโครงการยังไม่สอดคล้องกัน เช่น จำนวนการจ้างแรงงานเทียบกับช่วงเวลาการทำงาน ระยะเวลาการทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่สภาพหน้างานจริง หรือการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา (OT) ซึ่งจะดำเนินการเก็บข้อมูลภูมิลำเนาของแรงงานและการเบิกจ่ายเงินค่าแรงงาน