ม.รามฯวุ่น ล็อกห้องไม่ให้ประชุม! สภาฯออกแถลงการณ์แจง 3 ข้อยัน ‘สืบพงษ์’ พ้นอธิการบดี เจ้าตัวโต้ไม่มีอำนาจ-ประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ความขัดแย้งภายในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่าง รศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย ยังไม่ยุติ และทั้งสองฝ่ายต่างออกประกาศตอบโต้กันไปมา
โดยเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดการประชุม ครั้งที่ 5/2566 วาระที่ 5.1 และมีมติว่า เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดเหตุความสับสนวุ่นวายและความไม่เข้าใจในอำนาจการบริหารงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างมาก อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 มาตรา 18
สภาฯจึงมีมติให้ออกประกาศฉบับนี้เพื่อให้บุคลากรทุกฝ่ายของมหาวิทยา เข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและยึดถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องมาจาก ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ เป็นผู้ขาดจริยธรรมต้องห้ามเป็นผู้บริหาร แม้ต่อมา ศาลปกครองกลางจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้ทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งที่ให้ถอดถอน แต่คำสั่งดังกล่าวก็มิได้วินิจฉัยและคุ้มครองเกี่ยวกับสถานะการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของ ผศ.สืบพงษ์ รวมถึงการบอกเลิกสัญญาจ้างของมหาวิทยาลัย
ดังนั้น การให้ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีต่อไป ทั้งที่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้วย่อมทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ และขัดต่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 มาตรา 23 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ หาก ผศ.สืบพงษ์ ไม่เห็นด้วยกับสภาฯ จะต้องไปดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ แยกต่างหากเป็นอีกกรณีไป ดังที่ศาลปกครองกลางได้ระบุไว้ในคำสั่งยกคำขอของ ผศ.สืบพงษ์ เกี่ยวกับคำร้องขอให้บังคับตามคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
2. คำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งของสภาฯของศาลปกครองกลาง มีผลบังคับนับแต่วันที่สภาฯได้รับแจ้งคำสั่ง คือ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 72 วรรคท้าย และมีผลคุ้มครองเฉพาะตำแหน่งอธิการบดีเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองตำแหน่งรองอธิการบดีด้วย
ดังนั้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีในขณะที่ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ต้องพันจากตำแหน่งไป ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่สภาฯมีมติถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ให้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีแล้ว
3. ผศ.สืบพงษ์ มิได้เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในขณะนี้ และผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีในขณะที่ ผศ. สืบพงษ์ เป็นอธิการบดีนั้น ได้พ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไปแล้วทั้งหมด ผศ.สืบพงษ์ และรองอธิการบดีตังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามกฎหมาย
การที่ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กระทำการใด ๆ ในฐานะอธิการบดีของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและรองอธิการบตีดังกล่าวกระทำการใด ๆ ในฐานะรองอธิการบดี ย่อมเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมีได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำ
การนั้น ซึ่งถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 และกรณีที่ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กับ อดีตรองอธิกรรบดีบางคน บุกรุกเข้าไปใช้ห้องทำงานและห้องประชุมของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถือเป็นสถานที่ราชการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจนทำให้เกิดความสับสนต่อการปฏิบัติ ย่อมเข้าข่ายมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และเป็นความผิดทางวินัยอีกด้วย
ทั้งนี้ การกระทำใด ๆ ของ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ที่อ้างว่ากระทำในฐานะอธิการบดีและการกระทำใด ๆ ของอดีตรองอธิการบดีที่อ้างว่ากระทำในฐานะรองอธิการบดีนั้น ย่อมไม่มีผลตามกฎหมายเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
4. เพื่อให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมิให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงขอให้บุคลากรทุกฝ่ายยืดถือและปฏิบัติตามผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ภายใต้คำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแห่ง ที่ 13/2566 และ ที่ 31/2566 และรองอธิการบดีภายใต้คำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 15/2566 ตลอดจนบุคลากร ภายใต้คำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 420/2566 และ 422/2566
ส่วนทางด้าน ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีการตอบโต้โดยการออกประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับปฏิบัติงานตามปกติภายใต้คำสั่งอธิการบดี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566ความว่า
ตามที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 และมีประกาศสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับ ปฏิบัติตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น เพื่อให้บุคลากรทุกฝ่ายของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าใจข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง จึงประกาศให้ทราบดังนี้
1. การประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผล ดังนี้
1.1 การเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุที่ความดำรงอยู่ของรองอธิการบดี ขึ้นอยู่กับความดำรงอยู่ของอธิการบดี
เมื่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ บ. 362/2565 มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาท ย่อมมีผลให้รองอธิการบดีชุดเดิมกลับเข้าสู่ตำแหน่ง รศ.สุขสมัย สุทธิบดี รองอธิการบดีที่แต่งตั้งโดย ผศ.บุญชาล ทองประยูร รักษาราชการแทนอธิการบดี ย่อมพ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไปโดยปริยาย และย่อมพ้นจากตำแหน่งเลขานุการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยเช่นกัน
ดังนั้น รศ.สุขสมัย สุทธิบดี จึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย
1.2 การประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการแจ้งการประชุมให้ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของกรรมการสภาฯเข้าประชุมสภามหาวิทยาลัยในครั้งดังกล่าวนี้
2. นายกสภาฯไม่มีอำนาจในการออกประกาศการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ อำนาจในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของอธิการบดีในฐานะฝ่ายบริหาร ตามมาตรา 22 แห่งพระราบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 มิใช่อำนาจของสภามหาวิทยาลัย
ดังนั้น การที่นายกสภาออกประกาศสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับปฏิบัติตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นการออกประกาศโดยไม่มีอำนาจ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ บ. 362/2565 มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาท และศาลปกครองกลางวินิจฉัยคำขอให้ยังคับตามคำสั่งวิธีการชั่วคราวว่า ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ยังคงมีสถานะทางกฎหมาย มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 15 กันยายน 2564 ดังเดิมจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแบ่ลงคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาเป็นอย่างอื่น
อาศัยคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 อธิการบดีในฐานะ ผู้บังคับบัญชาและผู้รับผิดชอบการบริหารงาน ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงมีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องการบังคับบัญชาและการกำกับดูแของมหาวิทยาลัยรามคำแหงทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับปฏิบัติงานตามปกติภายใต้คำสั่งอธิการบดี ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ดังที่ได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันและขอให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการใส่กุญแจห้องประชุม 3 ที่จะจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อให้ไม่ให้เข้าใช้ห้อง โดยหน้าห้องมีการแปะเอกสารข่าวศาลปกครองอีกด้วย