'สุชาติ ชมกลิ่น' รมว.แรงงาน แจงปมร้องเรียนประกวดจ้างเหมาผลิตใบอนุญาตทำงาน 7.9 พันล้าน รอบ 2 ยันทุกอย่างดำเนินการโปร่งใสทำตามระเบียบ ไม่มีล็อคสเปก เหตุที่ต้องทำให้จบในยุคนี้ เพราะไม่รู้ว่ายุคอื่นมาจะทำไหม โครงการผ่านการศึกษาวิจัยอย่างดี ต้องการทำอะไรที่ให้อยู่บนโต๊ะ clean ทุกอย่าง
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ กรมบัญชีกลาง http://process.gprocurement.go.th/ พบว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 กรมการจัดหางาน ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเสนอราคางานโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) วงเงินงบประมาณ 7,950,000 บาท สอบรอบ โดยมีเอกชน จำนวน 3 ราย จาก 7 ราย ที่มาติดต่อขอรับ/ซื้อซองเอกสารประกวดราคา กำหนดราคากลาง 7,875,000,000 บาท แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดชื่อเอกชน ทั้งในส่วนที่ซื้อซอง และยื่นซองประกวดราคาไว้แต่อย่างใด
โดยการเปิดประกวดราคางานครั้งนี้ เป็นการเปิดประกวดราคารอบสอง หลังจากรอบแรกถูกยกเลิกไปแล้ว ขณะที่การประกวดราคารอบนี้ มีกระแสข่าว บริษัทที่มีชื่อย่อ ส. เป็นตัวเกร็งที่จะได้รับงานแต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการว่าทำไมผู้บริหารต้องเร่งรีบดำเนินโครงการฯนี้ เพราะเหลืออีกไม่กี่เดือนจะมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่แล้ว ทำไมไม่รอรัฐบาลใหม่ ที่สำคัญการประกวดราคางานโครงการฯ รอบสองนี้ ถูกบริษัทเอกชนบางราย ทำหนังสือแจ้งร้องเรียนปัญหาการกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์เข้ามาด้วย เหมือนการจัดประกวดราคารอบแรก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า สาเหตุที่ต้องดำเนินงานโครงการฯ นี้ โดยไม่รอรัฐบาลชุดใหม่นั้น เพราะเป็นโครงการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ประมาณปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตนยังไม่ได้รับตำแหน่ง อีกทั้งเป็นโครงการที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว นำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ โดยเงินที่คนต่างด้าวต้องจ่าย 1,900 บาท เป็นค่าใบอนุญาตทำงาน จะเข้าสู่กรมการจัดหางาน หลังจากที่กรมการจัดหางานหักค่าใช้จ่ายแล้วจึงนำเงินเข้าคลัง ส่วนนี้เป็นเงินค่าธรรมเนียม เป็นเงินนอกงบประมาณ
"เรื่องนี้คิดมาตั้งแต่สมัยปี 60, 61 แล้วมาตกผลึกปี 62 , 63 แล้วผมเข้ามาช่วงนั้นเป็นช่วงต่อเนื่อง ตอนนั้นมีปัญหาในเรื่องของรายละเอียดการทำต้นทุนที่จะออกราคา (Feasibility: การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ) กรมบัญชีกลางเขาขอตัวนี้ว่าคนที่จะประมูลควรที่ราคาเท่าไหร่ ก็ให้เรากระทรวงแรงงานทำรายละเอียดการทำต้นทุนที่จะออกราคาขึ้นไป มันไม่ได้ง่ายนะ ยากมากเลยนะ ถ้าสมมติว่าไม่จบยุคนี้ แล้วยุคอื่นมา จะทำอย่างนี้ไหม หรือต้องการให้มีไปเก็บใบละ 500 ใบละ 1,000 เหมือนเดิมไหม ผมต้องการทำอะไรที่ให้มัน clean (สะอาด) ทุกอย่าง ให้มันอยู่บนโต๊ะ"
นายสุชาติ กล่าวอธิบายด้วยว่า "อดีตที่ผ่านมาจังหวัดใดจังหวัดนั้นเก็บข้อมูลเองไม่ได้เชื่อมมาที่ส่วนกลาง ฐานข้อมูลไม่ได้มาที่ส่วนกลาง แล้ววันนี้เขาเกิดฆ่าคนตายกลับออกไป มีลายนิ้วมือแค่นิ้วสองนิ้ว ไม่ได้เก็บหมดก็ไม่เจอตัวถูกไหม กลับเข้ามาใหม่เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วก่ออาชญากรรมใหม่ต้องทำยังไง นี่เราต้องมองประโยชน์ของคนทั้งประเทศก่อน"
"ถ้าคุณคิดว่าเขาทุจริตคุณก็เปิดหน้าร้องมาเลย คุณจะได้สู้กันใครชนะใครแพ้คุณจะได้โดนฟ้องกลับ คุณอย่าอีแอบแบบนี้ไม่ได้ แอบมาแบบคือ คุณมาคิดว่าคุณเข้ามาได้ เสียประโยชน์ ผมถามคำว่า ทำไมคุณไม่เปิดหน้าร้องมาเลยล่ะ แล้วคุณก็ทำเรื่องฟ้องร้องเลย แล้วข้าราชการเขาสู้คดีเอง ถ้าคุณแพ้ขึ้นมาคุณก็รับผิดชอบสิ่งที่คุณปรักปรำเขาละกัน นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าประเทศไทยต้องยอมรับความเป็นจริงกันบ้างว่าต้องไปถึงไหนแล้ว ถูกไหม" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวด้วยว่า "ผมได้เรียกอธิบดีกรมการจัดหางานมาสอบถาม เพราะผมทำแค่กำกับนโยบาย ใครร้องเรียนมาเขาก็ตอบเป็นข้อ ๆ เช่น 5 วันทำการมันก็เป็นระเบียบของกรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางเขากำหนดไว้ เราไม่ยึดตามระเบียบกรมบัญชีกลางแล้วเราจะยึดมาตรฐานอะไร ส่วนเรื่องที่ร้องว่ามีการล็อคสเปก เขาก็ตอบไปแล้วว่ารายชื่อกรรมการคุณธรรมมีตั้งแต่อัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ส่วนกระทรวงแรงงานมีคนแค่ 1-2 คน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนดูแลในการประกาศ TOR แล้วก็มีการท้วงติง เขาไม่ใช่คนของรัฐบาล พวกเขาเป็นคนขององค์กรอิสระที่เข้ามาสังเกตการณ์"