กรมทางหลวงชนบท เล็งของบปี 67 วงเงิน 909 ล้านบาท เวนคืนพื้นที่ ‘นนท์-นครปฐม’ 79 ไร่ สร้างถนนต่อเชื่อมนครอินทร์ - ศาลายา เฟสแรก 3.7 กม. จาก 12 กม. พร้อมอัพเดทโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัดิ์ ตอกเข็มไปแล้วเกือบ 1% หลังเซ็น ‘ยูนิค’ เมื่อเดือน ต.ค. 65 วางเป้าเปิดใช้ลดแออัด ‘ราชพฤกษ์’ ปี 68
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ บริเวณถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี ระยะทางสะพานยาว 4 กม. ราคากลาง 1,200 ล้านบาท หลังจากลงนามในสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 1,181,515,000 บาท
ล่าสุด ความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 0.194% เร็วกว่าแผน 0.174% ซึ่งตามแผนระบุว่าต้องคืบหน้าแล้ว 0.02% โดยปัจจุบันตามแผนมีระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน ไปสิ้นสุดสัญญา ณ 18 พฤษภาคม 2568 ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเปิดใช้ได้ในปี 2568
รูปแบบโครงการ เป็นสะพานเหล็ก ขนาด 2 ชองจราจรต่อทิศทาง (ไป-กลับ) กว้าง 8.50 ม. ฝั่งขาเข้ายาวประมาณ 2.10 กม. และฝั่งขาออก ยาวประมาณ 1.90 กม. มีความยาวช่วงสะพาน 30 - 60 ม.- งานก่อสร้างระบบระบายนา ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และงานเบ็ดเตล็ดสำหรับทางขนานในรูปแบบ ขนาด 2 ช่องจราจร วางตัวอยู่เหนือสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ (ทางหลัก) เดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ นอกจากงานก่อสร้างสะพานแล้ว ยังมีเนื้องานของการก่อสร้างวางท่อประปา และงานที่เกี่ยวข้องพร้อมโครงการก่อสร้าง สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ด้วย โดยโครงการนี้มีการประปานครหลวง เป็นผู้ว่าจ้าง มูลค่าโครงการประมาณ 66.8 ล้านบาท ซึ่ง บมจ.ยูนิค เป็นผู้ได้งานไป โดยลักษณะงาน เป็นการก่อสร้างวางท่อประปา ขนาด ศก. 300 มม. 1,000 มม. และ 1,200 มม. โดยวิธีขุดวาง และโดยวิธีดันท่อลอด ความยาวโดยรวมประมาณ 2.8 กิโลเมตร
ภาพจำลองสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์
แนวเส้นทางของสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์
@ของบปี 67เวนคืน 909 ล้าน สร้าง ‘ต่อเชื่อมนครอินทร์ - ศาลายา’ เฟสแรก 3.7 กม.
นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์แล้ว แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า อีกโครงการสำคัญที่จะผลักดัน คือ โครงการต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา จ.นนทบุรีและนครปฐม ระยะทาง 12 กม. วงเงินประมาณ 4,400 ล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา 1,695 ล้านบาท และงานเวนคืนกับจัดกรรมสิทธิ์ 2,705 ล้านบาท
ในปีนี้ (2566) กรมจะของบเวนคืนบางส่วนจำนวน 909 ล้านบาทก่อน โดยจะขอให้มีการพิจารณาในการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นี้ สำหรับวงเงิน 909 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ในการเวนคืนก่อนจำนวน 79 ไร่ 3 งาน 17.60 ตร.ว. หรือคิดเป็นที่ดินประมาณ 200 แปลง ซึ่งเมื่อเวนคืนได้แล้ว ก็จะนำมาก่อสร้างในระยะทาง 3.700 กม. ก่อน (ช่วงกม.ที่ 8+300 - 12+000 เชื่อมต่อถนนนครอินทร์ มุ่งหน้าพระราม 5)
ทั้งนี้ สำหรับงบเวนคืนที่ต้องใช้ในโครงการนี้ทั้งหมด ประเมินไว้ที่ 357 ไร่ คิดเป็นที่ดิน 780 แปลง ใช้เงินทั้งหมด 2,705 ล้านบาท โดยได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 ที่ผ่่านมา
สำหรับโครงการต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา จ.นนทบุรีและนครปฐม ตั้งอยู่ที่ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และอ.บางกรวย, บางใหญ่ จ.นนทบุรี เป็นโครงการตัดถนนแนวใหม่ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 12 กม.
มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงชนบทสาย นฐ.5035 แนวเส้นทางวางตัวไปทางทิศตะวันออก ผ่านคลองตาพริ้ง ผ่านจุดตัดที่ประมาณ กม.ที่ 3+500 บนถนนทางหลวงชนบทสาย นฐ.3004 ข้ามคลองนราภิรมย์ ตัดผ่านทางหลวงชนบทสาย นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าว ตัดทางหลวงชนบทสาย นบ.1001 ข้ามคลองจีนบ่าย ข้ามคลองขุนเจน
โดยแนวเส้นทางจะอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่ และแนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองลาดละมุด ผ่านถนนทางหลวงชนบทสาย นบ.5035 ใกล้กับทางแยกเข้าวัดบางม่วง จากนั้นแนวจะเบี่ยงไปทางขวาวางแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ข้ามคลองโสนน้อยตัดผ่านถนนทางหลวงชนบท นบ.1001 บริเวณซอยอินทนิล จากนั้นแนวจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่โล่งด้านหลังหมู่บ้านศุภาลัยการ์เด้นวิลล์ ข้ามคลองบางนาและคลองประปา ก่อนเบี่ยงขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านมัณฑนากับอาคารโครงการบ้านเอื้ออาทรบางกรวย (วัดพระเงิน)
โดยแนวเส้นทางจะอยู่ด้านทิศใต้ของวัดสุนทรธรรมิการาม ข้ามคลองหัวคู และเข้าบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกโดยเชื่อมทางแยกต่างระดับบางคูเวียง รวมระยะทางประมาณ 12 กม.โดยแนวโครงการพาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 ตำบล และ 28 หมู่บ้าน/ชุมชน
ที่มาภาพ: กรมทางหลวงชนบท (ทช.)