ป.ป.ช. เปิด 10 คดีรุกป่า-ออกโฉนดที่ดินมิชอบ ปี 2566 จ่อแจ้งข้อกล่าวหา-ชี้มูล ทั้งบิ๊กข้าราชการ บิ๊กการเมือง และกลุ่มทุน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 นายมงคล ศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยระหว่างการอภิปราย 'ความรู้เกี่ยวกับการทุจริตคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์การทุจริตในพื้นที่รับผิดชอบของสํานักงาน ป.ป.ช. ภาค 3' ในโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ สํานักงาน ป.ป.ช. ครั้งที่ 1 ว่า คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการ มีภารกิจเกี่ยวกับการบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐ การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงแรมในเขตกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตโรงงานทุกชนิด และคดีเกี่ยวกับเหมืองแร่ โดยจะมีการใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ 60-70%
โดยในระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2566 มีเรื่องที่ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วและมีการชี้มูลทั้งอาญาและวินัย ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 49 คดี ชี้มูลอาญา 5 คดี ชี้มูลวินัย 4 คดี โดยมีผู้ที่ถูกชี้มูลตั้งแต่รัฐมนตรีจนถึงนักการเมืองท้องถิ่น และนักธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่ส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ 64 คดี สำหรับคดีที่น่าสนใจในปี 2566 มี 10 คดี อาทิ
คดีที่ 1 การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สนามทดสอบรถยนต์
คดีที่ 2 การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับคดีที่ 1
คดีที่ 3 การออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจในเขตเขาและความลาดชันเกิน 35% อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 300 ไร่ โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนน้ำเมา
คดีที่ 4 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง บนหาดฟรีด้อม ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถออกโฉนดได้ โดยเรียกรับเงินในการดำเนินการจำนวน 120 ล้านบาท
คดีที่ 5 ออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ และรับรองแนวเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพนามเบญจา โดยเป็นกรณีที่กรมป่าไม้ไปขีดแนวแขตแล้วไม่ตรงกับแผนที่ โดยขีดให้มีช่องว่างทำให้กลุ่มทุนที่เป็นบริษัทยา เข้าไปออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องโดยตรวจสอบพบกระแสการเงิน
คดีที่ 6 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกโฉนดที่ดิน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 41-3-28 ไร่ เกินกว่าหลักฐานเดิมที่แจ้งไว้คือ 34-3-16 ไร่ หรือเพิ่มมากว่า 7-3-12 ไร่ โดยนำพื้นที่ป่าและที่ดินของนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิมารังวัดรวมด้วย แหล่งข่าวแจ้งว่า สำหรับคดีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นคนสำคัญของประเทศไทย และเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคหนึ่ง
คดีที่ 7 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บุกรุกถือครองพื้นที่สวนป่าไม้สักของรัฐบาล รวมพื้นที่ 49 ไร่เศษ เหตุเกิดที่สวนป่ากิ่วทัพยั้ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ข้าวต้ม-ป่าห้วยลึก ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย แหล่งข่าวแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็น อดีต ส.ส. กับพวกที่เป็นอดีตข้าราชการกรมป่าไม้
คดีที่ 8 นายก อบต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต กับพวก ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในโครงการลาคอลิน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และพื้นที่ห้ามก่อสร้างตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งคดีดังกล่าวอาจจะมีการชี้มูลยกทั้งสภาท้องถิ่น และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนสถาบันการเงิน
คดีที่ 9 เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต สาขาถลาง กับพวกรวม 16 ราย ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะแรด เนื่องจากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่มีบุคคลใดเข้าไปถือครองและทำประโยชน์จำนวน 6 แปลง ซึ่งมีความเกี่ยวกับกลุ่มทุนประกอบกิจการรถยนต์
คดีที่ 10 ทุจริตออกใบจอง, น.ส. 3 ก. และโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนด้านการเกษตร กว้านซื้อที่ดินเอาใบจองไปออกโฉนด
สำหรับแผนการดำเนินการในปัจจุบัน มี 254 คดี โดยเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น 172 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 82 คดี โดยเป็นรายภาค ดังนี้
ภาคเหนือ 11 คดี ตรวจสอบเบื้องต้น 8 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 3 คดี โดย 1 ใน 3 เป็นคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ภาคกลาง 52 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 38 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 14 คดี โดยมีคดีใหญ่กว่าหมื่นไร่ ในจ.เพชรบูรณ์ ที่จะต้องตรวจสอบต่อไป
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 58 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 40 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 18 คดี ภาคตะวันออก 15 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 13 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 2 คดี โดยคดีส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ชลบุรี
ภาคตะวันตก 29 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 21 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 8 คดี และ ภาคใต้ 89 คดี โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 52 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 37 คดี โดยมีคดีเยอะสุดในพื้นที่ จ.ภูเก็ต