ไทยรับมอบวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ไฟเซอร์ ไบวาเลนท์ กว่า 5 แสนโดส จากเกาหลีใต้ เตรียมฉีดเป็นเข็มกระตุ้นสิ้นเดือนนี้ สธ.เผยฝรั่งเศสบริจาคเพิ่ม 1 ล้านโดส คาดมีเพียงพอถึงปี 2567 ไม่ต้องจัดซื้อเพิ่มเอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รับมอบวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ไฟเซอร์ ไบวาเลนท์ (bivalent) จำนวน 501,120 โดส จากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี โดยมี นาย มุน ซึงฮยอน (Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย นาย จอน โจยอง (Jeon Joyoung) อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย และคณะ เป็นผู้แทนส่งมอบ
นายอนุทิน กล่าวว่า ในนามรัฐบาลไทย และกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีที่มีความปรารถนาดีให้กับประเทศไทยเสมอมา รวมทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยสาธารณรัฐเกาหลีเคยสนับสนุนวัคซีนแอสตราเซนเนก้าให้กับไทยเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 470,000 โดส ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตให้กับคนไทยและคนเกาหลีที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี สำหรับวัคซีนที่สนับสนุนเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ของไฟเซอร์ ชนิด bivalent ซึ่งจะเป็นล็อตแรกของประเทศไทยที่จะนำมาใช้สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงและประชาชน
“ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 เข็ม ครอบคลุมประชากรมากกว่า 83% และฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 39% ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อสู้กับภัยสุขภาพระดับโลก สำหรับการรับมอบวัคซีนในวันนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีที่ไม่ใช่เพียง 65 ปีเท่านั้น แต่จะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดไป” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และผลการศึกษาในช่วงปลายปี 2565 ในประเทศสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก มีข้อแนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ bivalent เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มขึ้นไป ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 28-56% ความปลอดภัยไม่ต่างกับวัคซีนรุ่นแรกชนิด monovalent สามารถใช้ทั้งชนิด monovalent และ bivalent มาเป็นเข็มกระตุ้นได้ เนื่องจากผลในการป้องกันโรคไม่แตกต่างกัน โดยกรมควบคุมโรคจะจัดสรรวัคซีนให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตามสัดส่วนของประชากรแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งจัดสรรให้กับเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ (Uhosnet) กรมการแพทย์ และสภากาชาดไทย คาดว่าจะมีการจัดส่งวัคซีนประมาณสิ้นเดือน กุมภาพันธ์นี้
สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ bivalent เข็มกระตุ้น ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย อาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรง (กลุ่ม 608) รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีความเสี่ยง เช่น สัมผัสกลุ่มเสี่ยง สัมผัสนักท่องเที่ยว เป็นต้น โดยต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม จะฉีดเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือน และเข็มที่ 4 ห่างจากเข็มที่ 3 อย่างน้อย 4 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วและเคยติดเชื้อ จะฉีดหลังติดเชื้ออย่างน้อย 6 เดือน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย และเราได้เร่งรณรงค์ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยในคลินิกล้างไต ผู้สูงอายุในสถานรับดูแล โดยสัปดาห์หน้าเราจะไปรณรงค์ในสถานรับดูแลผู้สูงวัยให้ได้รับการฉีด LAAB มากขึ้น ส่วนสต๊อกวัคซีนรุ่นเดิมที่เรามีในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ชัด เนื่องจากได้กระจายไปไว้ที่คลังของภูมิภาคแล้ว ซึ่งจะมีการเช็กจำนวนเพื่อรายงานให้ทราบต่อไป
นพ.ธเรศกล่าวว่า ไทยได้รับการสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 ชนิดไบวาเลนท์ (bivalent) ที่เป็นการผสมกันระหว่างอู่ฮั่นและโอไมครอน ทั้งนี้ล็อตแรก 5 แสนโดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีใต้ เข้ามาถึงไทยแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจคุณภาพโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สัปดาห์หน้าจะทำพิธีรับมอบ จากนั้นจะกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ตามสัดส่วนของกลุ่มเสี่ยงที่ทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบว่า ระยะแรกที่วัคซีนมีจำกัดจึงจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าในการดูแลโควิดและกลุ่ม 607 ประกอบด้วย ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ต้นเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตาม วัคซีนรุ่น 2 จะใช้เป็นบูสเตอร์โดส ข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนตามหลักฐานวิชาการระบุว่า ไม่ต่างจากรุ่นเดิมที่ใช้ในปัจจุบันมากนัก ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มอื่นที่มีความประสงค์ฉีดก็สามารถติดต่อกับสถานพยาบาลนั้นๆ ได้
"สำหรับวัคซีนไบวาเลนท์ ไทยจะได้รับสนับสนุนจากฝรั่งเศสอีก 1 ล็อต จำนวน 1 ล้านโดส จะเข้ามาในเดือนมีนาคม ขณะเดียวกัน เราก็ได้รับการสนับสนุนวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งด้วย ทำให้ปัจจุบันเรามีวัคซีนเพียงพอ สามารถฉีดให้กับประชาชนได้ในลักษณะเข็มกระตุ้นโดยจะฉีดเหมือนกับไข้หวัดใหญ่คือปีละ 1-2 เข็ม จึงคาดว่าปี 2567 ไทยจะมีวัคซีนเพียงพอ ไม่ต้องจัดหามาเพิ่มเติม" นพ.ธเรศกล่าว