อดีตอาจารย์มะกัน ถูกมิจฉาชีพหลอกโกงเงิน 1.4 ล้าน มายังธนาคารที่ประเทศไทย เผยพฤติการณ์อ้างมีธุรกรรมผ่านเพย์พาลก่อนหลอกถามเลขบัญชี ให้อีกฝ่ายกรอกข้อมูลกับธนาคาร ผ่านไปสักพักเงินถูกโอนไปสองครั้งโดยเหยื่อไม่อนุมัติ เจ้าตัวโวยธนาคารเจพีมอร์แกนควรรับผิดชอบมากกว่านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับการฉ้อโกงในต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีบัญชีธนาคารจากประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง
โดยสำนักข่าว 10 Tempa Bay ซึ่งเป็นสำนักข่าวท้องถิ่นในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานข่าวกรณีนายไมเคิล ดีบ อดีตอาจารย์สอนประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในวัย87 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเทศมณฑลฮิลส์โบโรห์ ถูกฉ้อโกงโดยใช้กระบวนการอีเมล์เพย์พาล (PayPal) ก่อนที่มิจฉาชีพจะสามารถหลอกให้นายดีบโอนเงินไปได้เป็นจำนวน 42,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,443,540 บาท) ซึ่งจากการติดตามเส้นสทางการเงินพบว่าเงินนั้นถูกโอนไปยังประเทศไทย ขณะที่นายดีบกล่าวว่าเขาอาจจะไม่ได้เงินจำนวนนี้คืน
นายดีบกล่าวว่าจุดเริ่มต้นนั้นมาจากการที่เรารับอีเมลซึ่งดูเหมือนเป็นอีเมลแจ้งเตือนจากเพย์พาล เตือนเขาเกี่ยวกับการโอนเงินคิดเป็นจำนวน 355 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,201 บาท) ซึ่งตัวเขาเองนั้นทราบดีว่าเขาไม่เคยซื้ออะไรผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงินเพย์พาลมาก่อนเลย เขาจึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฎอยู่ในอีเมลที่ส่งมาเพื่อโต้แย้งการทำธุรกรรม
โดยเมื่อเขาโทรศัพท์ เสียงปลายสายของอีกฝ่ายบอกว่ายินดีที่จะคืนเงินจำนวน 355 ดอลลาร์สหรัฐฯดังกล่าว และได้ขอข้อมูลเลขบัญชีธนาคารของนายดีบ
นายดีบกล่าวต่อไปว่าเขาเชื่อว่านี่คือตอนที่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังโทรศัพท์นั้นสามารถจะเข้าถึงบัญชีธนาคารของเขาได้ โดยพบข้อมูล (ในภายหลัง) ว่ามีการย้ายเงินของนายดีบจากบัญชีเงินเก็บของเขาบัญชีหนึ่ง ไปยังอีกบัญชีหนึ่งซึ่งเป็นบัญชีกระแสรายวันของนายดีบคิดเป็นจำนวนเงิน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,202,950 บาท)
โดยบุคคลในโทรศัพท์ได้ติดต่อนายดีบในภายหลังว่าพวกเขานั้นโอนเงินคืนให้นายดีบไปผิดจำนวน โดยโอนเงินคืนไปทั้งสิ้น 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แทนที่จะเป็น 355 ดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นพวกเขาจึงขอให้นายดีบได้โอนเงินคืนมาผ่านการใช้เพย์พาล
“ในกระบวนการที่ผมจะต้องโอนเงินคืนไปนั้น ผมถามกับธนาคารเชส (เจพีมอร์แกน เชส) เกี่ยวกับการโอนเงินคืน และทางเชสก็บอกว่ายินดีที่จะให้ตัวเลขบัญชี บอกตำแหน่งที่จะใส่ตัวเลข และก็จำนวนเงินที่จะส่งคืนไปให้กับพวกเขา (กลุ่มคนที่อยู่ในโทรศัพท์)”นายดีบกล่าว
นายดีบกล่าวว่าเขาไม่เคยได้รับโทรศัพท์หรือข้อความจากธนาคารเพื่อยันในกรณีการโอนเงินผ่านธนาคารและกระบวนการรับรองความถูกต้องว่าเขาต้องการจะโอนเงินจำนวน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่แต่อย่างใด ซึ่งเงินจำนวนนี้เขาพบว่าท้ายที่สุดแล้วมันไปยังบัญชีธนาคารที่อยู่ในประเทศไทย
“ทันใดนั้น ผมก็ถูกบล็อกการติดต่อในทุกช่องทาง” นายดีบกล่าว
นายดีบกล่าวต่อไปว่าในวันถัดไปหลังจากที่มีการโอนเงิน เขาจึงรับทราบข้อมูลอันน่าตกใจว่าเงินของเขาหายไป 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังไม่ทันได้ทำอะไร ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น บัญชีของนายดีบก็ถูกโอนเงินไปอีก 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (240,590 บาท)
นายดีบยืนยันว่าการที่เงินถูกโอนไปในครั้งที่สองนั้นก็เหมือนกับครั้งแรกคือเขาไม่เคยได้รับคำแจ้งเตือนหรือคำยืนยันเกี่ยวกับการโอนเงินเลย โดยเมื่อเขาติดต่อไปยังเชสเกี่ยวกับการโอนเงินในครั้งที่สองเขาบอกว่า “ผมไม่เคยอนุมัติให้มีการโอนเงินอีกครั้ง และอีกฝ่าย (ธนาคาร) บอกว่าเราได้ดำเนินการตามพื้นฐานของการโอนเงินในครั้งแรก”
หลังจากนั้นนายดีบจึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรณีการหลอกลวงเอาเงินก้อนใหญ่ ที่เขาออมไว้สำหรับการเกษียณ โดยเขาได้ไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐฟลอริดา,ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต,สำนักงานนายอำเภอ และหน่วยงานอื่นๆ แต่ว่าไม่มีใครสามารถจะนำเงินคืนมาให้เขาได้เลย
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่อยู่ภายใต้สำนักอัยการฟลอริดาได้ให้คำแนะนำและเขียนจดหมายไปถึงเจพีมอร์แกนในนามของนายดีบ
“โอกาสของผมที่จะได้เงินคืนนั้นน้อยมากจนถึงไม่มีเลย แต่ผมก็รู้สึกอับอายและต้องการให้ผู้คนได้รับรู้ว่าเรื่องเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น” นายดีบกล่าว
ล่าสุดได้มีจดหมายจากฝ่ายบริหารของธนาคารเจพีมอร์แกนส่งมาหานายดีบระบุว่า “เราเสียใจมากที่คุณตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง เป็นเรื่องที่โชคร้ายเพราะว่าการโอนนั้นถูกดำเนินการโดยคุณ เราจึงไม่สามารถจะติดตามบัญชีเพื่อตามเงินที่สูญหายไปกลับมาได้”
ขณะที่นายดีบให้ความเห็นแย้งโดยเขาเชื่อว่าธนาคารควรจ้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้เมื่อมาถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงทางการเงิน ซึ่งทางด้านของโฆษกธนาคารเจพีมอร์แกนได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว 10 Tampa Bay ได้นำกรณีของนายดีบไปขยายผลแล้ว และจะมีการแจ้งความคืบหน้าการสืบสวนต่อไป