เผยความคืบหน้าคดีชี้มูล 'บรรเจิด สอพิมาย' นายกอบต.ในเมือง อำเภอพิมาย นครราชสีมา ร่ำรวยผิดปกติ 73 ล้าน ล่าสุด 'สยาม ศิริมงคล' ผู้ว่าฯ โคราช ยังไม่สั่งพ้นเก้าอี้ ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 122 ทำหนังสือแจ้ง ปธ. ป.ป.ช. ขอหารือกันก่อน อ้างยังไม่เคยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน หวั่นการวินิจฉัยเกิดข้อผิดพลาดได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูล นายบรรเจิด สอพิมาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล อบต.) ในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมา โดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 73,062,271.36 บาท และให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า ต่อไป
- ป.ป.ช.สั่งยึดอายัดทรัพย์ 73 ล. 'บรรเจิด สอพิมาย' นายกอบต.ในเมือง โคราช คดีร่ำรวยผิดปกติ
- มีอะไรบ้าง? ทรัพย์สิน 73 ล.'บรรเจิด' นายกอบต.ในเมือง ป.ป.ช.สั่งยึดอายัดคดีรวยผิดปกติ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในจังหวัดนครราชสีมา ว่า ปัจจุบัน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ยังไม่ได้ออกคำสั่งให้ นายบรรเจิด สอพิมาย พ้นจากตำแหน่ง นายก อบต.ในเมือง หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีร่ำรวยผิดปกติปกติแต่อย่างใด
แม้ว่าในช่วงเดือนธ.ค.2565 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีหนังสือแจ้งขอให้ผู้ว่าฯ นครราชสีมา สั่งให้นายบรรเจิด พ้นจากตำแหน่ง ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งและให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 122 แล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน ม.ค.2566 ที่ผ่านมา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ ยังได้ทำหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช. เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ยังไม่สามารถสั่งให้ นายบรรเจิด พ้นจากตำแหน่งได้
โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายและยังไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมาก่อน การวินิจฉัยอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ เพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจน และป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จึงหารือแนวทางปฏิบัติในกรณีดังกล่าวก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ แหล่งข่าวจากสนง. ป.ป.ช. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ตามบทบัญญัติในมาตรา 122 วรรคห้า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้งจาก ป.ป.ช. โดยไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับอ้างว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายและไม่มีแนวทางปฏิบัติ ไม่ยอมดำเนินการ แต่กลับทำหนังสือหารือประธานกรรมการ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้อีก ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องรอดูว่า ประธาน ป.ป.ช. จะตอบข้อหารือผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอย่างไร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ โคราช ผ่านเบอร์โทรศัพท์ 044-242057 ที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์จังหวัดนครราชสีมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
ต่อมา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ โคราช ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สำนักข่าวอิศรา ว่า จากการตรวจสอบเรื่องนี้ พบว่าที่ผ่านมายังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ในเรื่องที่เกี่ยวกับความผิดฐานร่ำรวย ทางจังหวัด จึงจะทำหนังสือหารือไปยัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ทราบว่าจะมีการทำเรื่องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ตีความเรื่องนี้เป็นทางการ เพราะกรณีโคราช ถือเป็นกรณีแรก คาดว่าจะทราบผลภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน ตามกม.ป.ป.ช.
@ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ โคราช / ภาพจาก https://koratdaily.com/
สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 122 ระบุไว้ดังนี้
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติเพื่อให้อัยการสูงสุดดําเนินการยื่นคําร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินต่อไป และให้นําความในมาตรา 83 มาตรา 84 มาตรา 119 มาตรา 120 และมาตรา 121 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งอัยการสูงสุด ให้ประธานกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยให้นำความในมาตรา 80 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งคําวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจ แต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่วินิจฉัยเพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยให้ถือว่ากระทําการทุจริตต่อหน้าที่ความในวรรคสามมิให้ใช้บังคับกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าข้าราชการดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติให้แจ้งให้ประธานกรรมการแจ้งไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ แล้วแต่กรณีต่อไป และในกรณีที่มีการสั่งให้
พ้นจากราชการ ให้ถือว่าเป็นการให้พ้นจากราชการเพราะกระทําการทุจริตต่อหน้าที่
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ส่งคําวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่งเพื่อสั่งให้พ้นจากตําแหน่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําการทุจริตต่อหน้าที่
ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนตามวรรคสาม หรือผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่งตามวรรคห้า มีอํานาจสั่งไล่ออกหรือดําเนินการถอดถอนได้โดยไม่ต้องสอบสวนหรือขอมติจากคณะรัฐมนตรี หรือความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคล
ส่วนความคืบหน้าอื่นๆ จะติดตามมานำเสนอต่อไป
ข่าวในหมวดเดียวกัน