12 ปี อิศรา ชี้ข่าวสืบสวนต้องอดทนและกัดไม่ปล่อย เสนอภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้ ด้าน ‘ปรางค์ทิพย์’ ชี้ข่าวสืบสวนใหญ่ ต้องแชร์กันทำทั้งโลก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ในกิจกรรมครบรอบ 12 ปี สำนักข่าวอิศรา Investigative news of THAILAND นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า ชื่อของสำนักข่าวเป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอิศรา อมันตกุล นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีชื่อเสียงและมีเกียรติคุณอย่างยิ่งในอดีต โดยได้ตั้งขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนภายใต้มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 ปี มาแล้ว เพื่อทำหน้าที่ในการทำข่าวต่างๆ รวมทั้งการทำข่าวสืบสวน เพื่อนำเสนอความจริงด้านการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ เพราะการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศในหลายๆด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อราษฎรบังหลวงในภาครัฐ ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผู้กระทำผิดมีวิธีการกระทำผิดที่ซับซ้อน แยบยล ซ่อนเงื่อนมากขึ้น คู่ขนานไปกับเทคโนโลยีที่เอื้อให้การกระทำผิดมิชอบง่ายขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่ต้องรู้ร้อน รู้หนาว เพื่อให้เกิดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ
“ขอแสดงความยินดีกับสำนักข่าวอิศรา ที่มุ่งมั่นในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้านที่มีคุณภาพมายาวนานนับทศวรรษ ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อมั่นในการทำงานและการสนับสนุนจากท่านทั้งหลาย ในอนาคตไม่ว่าภูมิทัศน์หรือธุรกิจสื่อมวลชน จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สำนักข่าวอิศราก็ยังคงยืนหยัดในบทบาทในการเป็นสื่อมวลชนที่มุ่งแสวงหาความจริง ปกป้องประโยชน์สาธารณะต่อไปอย่างมั่นคง” นายมานิจกล่าว
@ข่าวสืบสวนต้องอดทน และกัดไม่ปล่อย
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ ‘ISRA TALKS บทบาทข่าวสืบสวนในการเปลี่ยนแปลงสังคม’ ว่า ต้นแบบของข่าวเชิงสืบสวน คือ คดีวอเตอร์เกตอันโด่งดัง ซึ่งนักข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ต้องยึดเป็นแบบอย่างคือ ความอดทนและกัดไม่ปล่อย อีกจุดสำคัญคือ ต้องรักษาความลับของแหล่งข่าว หรือที่เรียกว่า Deep Throat แล้วถามว่าประเทศไทยมีข่าวแบบนี้หรือไม่
ปัญหาสำคัญในการทำข่าวของประชาชนปัจจุบันคือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แม้จะมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายหน่วยที่ไม่เปิดเผยข้อมูล อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายงบประมาณ ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีการปรับปรุงก็เชื่อว่า จะมีส่วนสำคัญในการเข้าถึงและป้องกันการคอร์รัปชันได้มาก
“น่าเสียดาย มีการพูดว่าข่าวเชิงสืบสวนลดน้อยถอยลง เพราะเข้าถึงยาก ประชาชนไม่ดู เรามีคนสืบสวนให้เสร็จครับ แล้วเอามาแฉ แล้วสื่อก็เอาไปตาม เราไม่ได้สืบสวนด้วยตัวเอง แนวโน้มของสื่อในการนำเสนอน้อยลง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก” นายประสงค์ทิ้งท้าย
@ช่วยกันทำข่าว เป็นเทรนด์ใหม่ข่าวสืบสวน
ขณะที่นางสาวปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซีย และนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ ‘อนาคตและทิศทางข่าวสืบสวนโลก’ ว่า นักข่าวสืบสวนมีเป้าหมายเพื่อที่จะรื้อ ค้น ขุด นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะมานำเสนอ สิ่งที่ประโยชน์ต่อสาธารณะคือ ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยปัจจุบันผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนจับมือกันทำข่าวเอกสารจำนวนมาก กรณีตัวอย่าง ได้แก่ การเปิดโปงธุรกรรมอื้อฉาว ปานามาเปเปอร์
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการทำข่าวสืบสวนของโลก คือ การแชร์ข้อมูล เพราะในกรณีปานามาเปเปอร์ มีข้อมูลมหาศาล ครั้งนี้ ทำกันเองไม่ไหว จึงมีการติดต่อ ICIJ เพื่อร่วมกันทำงานนี้ เฉพาะในไทยมีถึง 10,000 ไฟล์ หน้าที่ของตนคือ นั่งอ่าน หาชื่อ หาความเกี่ยวโยง แล้วส่งต่อสำนักข่าวอิศรา ในการหาความเชื่อมโยงอย่างเมกเซ้นส์ที่สุด จนเจอตระกูลผู้ร่ำรวยในประเทศแทบทุกตระกูล และมีการตั้งบริษัทนอกอาณาเขตมากมายหลายร้อยบริษัท
ในการทำข่าวอย่างยุติธรรม จะต้องให้โอกาสแหล่งข่าวชี้แจง เราจัดการอย่างระมัดระวัง เขียนจดหมายติดต่อหาคำตอบ แต่น่าเสียใจที่เราไม่เคยได้รับคำตอบตรงๆเลย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพบคือ ลูกค้า 1 ราย ไม่ได้มีบริษัทเดียว แต่มีเครือข่ายโยงไปมา หน้าที่ของนักข่าวคือ ไปดูเครือข่ายนี้ แล้วแลกดูว่าใช้ทำอะไร เชื่อมโยงกับอะไร บางครั้งก็ได้คำตอบ บางครั้งก็ไม่ได้คำตอบ บางครั้งก็ใกล้จะได้คำตอบ แต่ส่วนใหญ่เรามีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ
“ข่าวสืบสวนสอบสวน จะไม่ไปไหน ตราบเท่าที่นักข่าวสืบสวนทำตัวให้เป็นสถาบันที่ใครก็เชื่อถือได้ ประชาชนและสังคมต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจกับแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถทำความเข้าใจกับโลก และความซับซ้อนต่างๆ เพื่อให้รู้สิทธิของตัวเอง สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้อง ดำเนินชีวิตและแสวงหาความยุติธรรมให้กับตัวเอง ที่สำคัญ เวลาไปเลือกตั้งจะได้คิดว่า ต้องการอะไรจากการเลือกตั้ง เป็นการไปใช้สิทธิอย่างมีความหมาย ของขวัญที่ดีที่สุดทีสื่อมวลชนมอบให้สังคมได้ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ว่านี้” นางสาวปรางค์ทิพย์กล่าวทิ้งท้าย