'อิศรา' จัดเสวนาสังคายนานโยบายปราบคอร์รัปชั่น นักวิชาการชี้ค่า CPI ต่ำทำให้การลงทุนในไทยลดลง ด้านตัวแทนหน่วยงานต้านโกงชี้สื่อทำข่าวสืบสวนน้อยลง ย้ำประชาชนต้องให้ความร่วมมือ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงาน 12 ปี สำนักข่าวอิศรา Investigative News of Thailand ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ สังคายนานโยบายปราบคอร์รัปชั่น ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ประเด็นการทุจริตที่ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือไก่กับไข่ที่ถกเถียงกันว่าใครเกิดก่อน คิดว่า เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งคนให้ที่เป็นประชาชน คนรับที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การจะแก้ปัญหานี้ต้องแก้ทั้งสองฝ่าย ประเด็นการปราบปรามการทุจริตต้องอาศัยความเข้มแข็งของประชาชนและสื่อมวลชน ในปัจจุบันมีสื่อที่นำเสนอข่าวสืบสวนน้อยลง ขอชื่นชมสำนักข่าวอิศราที่ยืนหยัดทำข่าวนี้
ประเด็นการคอร์รัปชันที่มีความเกี่ยวพันกับภาคการเมือง รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น
“ต้องยอมรับว่าระบบการเมืองของไทยไปผูกกับระบบการขับเคลื่อนของภาครัฐ สังเกตจากเรื่องของอธิบดีกรมป่าไม้ หรือเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง เพราะดูจากงบประมาณของแต่ละกระทรวง ถึงมีข่าวอธิบดีรับเงินจากเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่เอาเงินมาจากไหน ก็เอามาจากเงินงบประมาณของกระทรวง” นายนิวัติชัยกล่าว
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่างถึงประเด็นเงินจากการทุจริตจากงบประมาณภาครัฐที่มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท จากงบประมาณภาครัฐที่รวมจากทุกภาคส่วนที่มีมูลค่า 10 ล้านล้านบาท ประเด็นระบบอุปถัมภ์ในภาคการเมืองและเอกชนที่พึ่งพิงกัน ทำให้ทำลายยาก ประชาชนต้องร่วมมือกัน
“ปฏิวัติไม่ปฏิวัติก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน เคยคิดว่าพอปฏิวัติจะมีความหวังในการแก้ไขเรื่องการทุจริต แต่ 8 ปีที่ผ่านมาก็ปฏิรูปอะไรก็ไม่สำเร็จ” นายประจักษ์ล่าว
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวถึงประเด็นการไม่ทิ้งความหวังในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ประเด็นการให้รางวัล-ลงโทษที่คนที่ทุจจริต ที่ให้ใช้พลังของประชาชนในการลงโทษ เช่น ไม่สมัครงานกับเอกชนที่มีการทุจริต แม้กระทั่งผู้ที่ทุจริต พึงสงสารลูกหลานที่จะต้องเป็นผู้รับโทษจากสายตาของสังคมจากการกระทำของพ่อแม่ปูย่าตายาย
“ถ้าประชาชนทำแบบนี้กับภาคธุรกิจจะมีพลังมหาศาล จะเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจได้ ถ้าไม่มีคนมาทำงานกับเขา ไม่ซื้อสินค้าของเขา นี่เป็นบทลงโทษที่ร้ายแรง เช่นเดียวกับพรรคการเมือง ต้องเลือกคนที่ต้านทุจริตจริง ถ้าเราเลือกเหมือนเดิม ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม ส่วนการลงโทษนักการเมืองประชาชนต้องมีส่วนร่วม ” นายวิเชียรกล่าว
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็น ค่า CPI (Corruption Perceptions Index: CPI) ดัชนีการรับรู้การทุจริต ของประเทศไทยที่มีค่าไม่ต่างกันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแต่กลับมีอันดับที่ต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ ที่มาลงทุนน้อยลง รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาค่า CPI ตกต่ำ ประเด็นต้นทุนการต่อสู้กับคอร์รัปชันของไทยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็น ‘ความเชื่อใจ’ ของคนในสังคมไทย ที่ปล่อยให้มีคนโกงได้เพราะความเชื่อใจ
"การโกงสะท้อนความไว้วางใจ ยิ่งโกงมาก็ยิ่งสะท้อนว่าไว้ใจมาก ทางแก้ระบบคอร์รัปชันคือความโปร่งใสที่คนเห็นปลายทางได้ ต้องมีระบบที่คาดการณ์ได้ มีหน่วยงานที่คนคาดการณ์ได้" ผศ.ธานีกล่าว
หมายเหตุ : สามารถชมคลิปย้อนหลังในประเด็นนี้ได้ที่ (https://www.facebook.com/isranewsfanpage/videos/1224103591842989) สำนักข่าวอิศราขออภัยคุณวิเชียร พงศธรมา ณ ที่นี้ สำหรับการเผยแพร่ข้อความที่คลาดเคลื่อนในประเด็นการใช้พลังทางสังคมกดดันผู้กระทำผิดซึ่งได้เผยแพร่ก่อนหน้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ค่า CPI ไทย 36 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้ 34 ติดอันดับ 101 ความโปร่งใสโลก