เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนจัดชุมนุมหน้าสำนักงานประกันสังคม ยื่น 2 ข้อเรียกร้อง จัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ภายในเดือนมี.ค. 66-แรงงานข้ามชาติผู้ประกันตนตามม.33 ต้องมีสิทธิเลือกตั้งด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จัดการชุมนุมที่สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนระบุว่า คณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ประการ
1.ต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ภายในเดือน มี.ค. 2566
2.แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในมาตรา 33 ต้องมีสิทธิเลือกตั้ง
นางสาวธนพร วิจันทร์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวอิศราว่า สาเหตุที่ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ประการข้างต้นเนื่องจาก เรื่องการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ถูกเลื่อนมาตลอดตั้งแต่ปี 2564 พอไปตามเรื่องทางประกันสังคมก็บอกว่าจะได้เลือกในปี 2565 แต่พอปลายปี 2565 ไปตามเรื่องอีกครั้งก็ได้คำตอบว่าจะได้เลือกตั้งในปี 2566 อย่างแน่นอน อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการจำกัดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในมาตรา 33 ไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง
"คือถ้าเขาเป็นผู้ประกันตนเขาควรจะมีสิทธิ์ อันนี้เรามองในมุมของนายจ้างด้วย เพราะจะมีนายจ้างที่เป็นชาวต่างชาติ เขาก็ควรจะมีสิทธิ์ในการเลือกผู้แทนที่ไปเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้างด้วย จะได้มองทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ประกันและฝ่ายนายจ้าง" นางสาวธนพรกล่าว
นอกจากนี้นางสาวธนพรกล่าวอีกว่า คาดว่าจะทำการฟ้องร้องประกันสังคมที่ทำให้การเลือกตั้งล่าช้า ไม่ได้ทำหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง
ด้านนางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม ผู้ที่ออกมารับเรื่องข้อเรียกร้องของผู้ที่มาชุมนุมกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ติดประชุมสำคัญ ให้ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุม ส่วนเรื่องการจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ทางหน่วยงานไม่ได้นิ่งดูดาย ดำเนินการมาตลอดแต่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่เคยทำการเลือกตั้งมาก่อน จึงมีปัญหาติดขัดบางประการทั้งในเรื่องกระบวนการ งบประมาณต่าง ๆ แต่การเลือกตั้งต้องมีแน่นอน คิดว่าในปี 2566 จะมีการเลือกตั้งได้
หมายเหตุ : ที่มาภาพเฟซบุ๊ก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน