ตำรวจนครบาลออกหนังสือด่วนที่สุด แจ้งแนวทางการดำเนินการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์และสารเสพติดในเลือดของผู้ขับขี่ ย้ำถ่ายรูป-วิดีโอไว้เป็นพยานหลักฐาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2566 พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น.ปรท.ผบช.น. ลงนามในบันทึกข้อความด่วนที่สุด เรื่อง แนวทางการดำเนินการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์และสารเสพติดในเลือดของผู้ขับขี่ วันที่ 2 ก.พ. 2566 ระบุว่า
เนื่องด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันมีอุบัติเหตุจากการขับขี่รถบนท้องถนน แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน บางรายเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนเป็นวงกว้าง เนื่องจากผู้ขับขี่รถยนต์หรู มีสถานะทางสังคม ดื่มสุราหรือสิ่งมีนเมาอย่างอื่นร่วมด้วย นำมาสู่การร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจผู้เกี่ยวข้องในเรื่องความไม่เข้าใจหรือไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยการจราจร อำนวยความยุติธรรมและการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการป้องปรามและการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จึงกำหนดแนวทางการดำเนินการให้เจ้าพนักงานจราจรและพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ ดังนี้
1.หากพบว่า ผู้ขับขี่รายใด มีพฤติการณ์นำสงสัยว่า หย่อนความสามารถในการขับขี่หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) โดยวิธีเป่าลมหายใจ หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ ให้กักตัวไว้ตามพฤติการณ์แห่งคดีเพื่อทำการทตสอบอีกครั้ง
ภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที หลังจากการสั่งครั้งแรก หากยังไม่ยอมให้ทดสอบอีก โดยไม่มีเหตุอันสมควรให้นำบทสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 วรรคสี่ มาบังคับใช้ในการแจ้ง
ข้อกล่าวหาตามกฎหมาย ทั้งนี้ วิธีการตรวจหรือทดสอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ข้อ 1 ถึงข้อ 3
2.กรณีไม่ยอมให้ทดสอบตามข้อ 1 โดยมีเหตุอันสมควร เช่น มีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคติดต่อทางลมหายใจหรือมีบาดแผลบริเวณปากหรือลำคอปรากฎทางกายภาพชัดแจ้ง ให้ถามความสมัครใจที่จะทดสอบโดยการตรวจวัดจากปีสสาวะหรือเลือดแทน หากสมัครใจ ให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการโดยทันที หรือไม่เกิน 30 นาที นับแต่ระยะเวลาตามข้อ 2 สิ้นสุดลง โดยให้ส่งตรวจสารเสพติดอย่างอื่นควบคู่ด้วยทุกครั้ง
3.กรณีผู้ขับขี่ยินยอมทดสอบโดยวิธีเป่าลมหายใจแล้วพบว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ข้อ 3 (1) หากผู้ขับขี่สมัครใจทดสอบโดยการตรวจวัดจากปัสสาวะหรือเลือดเพิ่มเติมอีก ก็ให้ดำเนินการตามที่ระบุในข้อ 2
4.กรณีมีเหตุจำเป็นอื่นใดจนไม่สามารถส่งตรวจได้ตามระยะเวลา ตามข้อ 2 หรือส่งตรวจล่าช้าเกินกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไปนับแต่พบเหตุและผลการตรวจพิสูจน์ทางการเพทย์ยืนยันปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าที่กำหนดกฎหมาย ให้สอบปากคำแพทย์ผู้ตรวจ ยืนยันปริมาณแลกอยอล์ของผู้ชับขี่ย้อนไปถึงเวลาขณะเกิดเหตุว่า มีปริมาณเท่าใด ด้วยเหตุผลและหลักการคำนวณอย่างไร
5.กรณีเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี เช่น มีผู้เสียชีวิต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้พนักงานสอบสวนนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 มาดำเนินการ หากผู้ขับขี่ไม่ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะหรือเลือด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้ว จะเป็นผลเสียต่อผู้ขับขี่นั้น รวมสำนวนเพื่อประกอบการมีความเห็นในเรื่องเจตนาหรือประมาทหรือไม่ แต่ไม่ได้เป็นหลักฐานในการกล่าวหาว่า ขับขี่รถขณะเมาสุราหรือเมาของอย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
6.กรณีผู้ขับขี่หมดสติ ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ให้ดำเนินการตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่หรือบุคคล ที่อาจเป็นผู้ขับขี่ซึ่งอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่สามารถให้ความยินยอมได้ กรณีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น พ.ศ.2565 ลง 28 ก.ย.65 และระเบียบ ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจพิสูจน์การมีสารเสพติด หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในร่างกายของผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ซึ่งอยู่ในภาวะหมดสติ หรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่สามารถยินยอมได้ กรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น พ.ศ.2565 ลง 28 ก.ย.65
7.กรณีมีความจำเป็นเพื่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 176 ผู้ใดไม่ยอมให้มีการตรวจหรือทดสอบว่ามียาเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
การปฏิบัติตามข้อ 1-7 ให้กระทำโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจและหน้าที่ โดยปฏิบัติด้วยความละมุนละม่อม ใช้กริยาวาจาที่สุภาพ คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความมนุษย์ ตามรัฐธรรมนูญ มีการบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทำบันทีกรายละเอียดต่าง ที่เกี่ยวข้องไว้เพื่ออ้างอิงและเป็นพยานหลักฐานประกอบสำนวนการสอบสวนได้อย่างมั่นคง น่าเชื่อถือ สามารถอ้างอิงและพิสูจน์ได้เสมอ