ผอ.ท่าเรือเผยแผนพัฒนาที่ดิน ‘คลองเตย - ท่าเรือแหลมฉบัง’ เตรียมนำที่ดิน 17 ไร่ข้างที่ทำการท่าเรือ - ที่ดิน 90 ไร่ในแหลมฉบัง ชงบอร์ดภายใน มี.ค.นี้ อนุมัติ TOR เปิดให้เอกชนเช่า 30 ปี หลังทิศทางการขนส่งทางน้ำซึม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564 - ก.ย. 2565) กทท.มีรายได้รวมประมาณ 15,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,300 ล้านบาท นำส่งเข้ากระทรวงการคลัง 4,000 ล้านบาท หรือประมาณ 70%
แต่จากสถานการณ์การขนส่งสินค้าทางน้ำในภาพรวมยังไม่ดีนัก โดยรวมยังชะลอตัว แม้จะฟื้นตัวจากภาวะเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดแล้วก็ตาม เพราะปัจจัยที่รุมเร้ามีรอบด้านทั้งสงครามรัสเซีย - ยูเครน, ภาวะอัตราค่าเงินผันผวนโดยเฉพาะกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีผลทำให้ค่าระวางเรือมีความผันผวนตามไปด้วย
ดังนั้นในปี 2566 นี้ จะพยายามคงรายได้ให้ได้เท่าปี 2566 นอกจากการหวังพึ่งค่าระวางเรือเพียงอย่างเดียวแล้ว ต่อไปจะต้องเน้นในการเป็นท่าเรือรองรับสินค้าสำหรับการถ่ายลำ (Transhipment) มากขึ้น ซึ่งในไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการผลิตเพื่อส่งออกและนำเข้าที่แท้จริง (Real Consumption)
@ชง 2 ที่ดินท่าเรือ ออกให้เช่า มี.ค.นี้
นอกจากนี้ กทท.จะเริ่มภารกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วย โดยในไตรมาสที่ 1 นี้ หรือประมาณเดือนมีนาคม 2566 นี้ จะเริ่มนำที่ดินด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบันบริเวณเขตคลองเตย กทม. พื้นที่ 17 ไร่ มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท มาเปิดให้เช่าพื้นที่ระยะเวลา 30 ปี รูปแบบโครงการจะใช้ E-bidding แบบ Price Performance อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.พิจารณาร่าง TOR โมเดลการพัฒนาจะเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามานำเสนอ แต่ต้องสนับสนุนภารกิจงานด้านโลจิสติกส์ของ กทท. เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่นอกเขตรั้วที่ดินส่วนใหญ่ของ กทท. และไม่อยู่ในแผนพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพ เนื้อที่ 2,353 ไร่ด้วย นอกจากนี้ ในบริเวณเดียวกันอีกด้านหนึ่ง จะมีที่ดินอีก 15 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา โดยจะรอการดำเนินงานในที่ดิน 17 ไร่ก่อน
อีกโครงการหนึ่ง ที่ดินบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ระยอง 90 ไร่ จะนำพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำจุดพักรถบรรทุก (Truck Parking Area) วางระยะเวลาสัมปทานไว้ 15+15 ปี หรือ 20+10 ปี ที่วางไว้แบบนี้เพราะว่าการทำจุดพักรถจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างอื่นด้วย ไม่เหมือนการพัฒนาที่ดิน 17 ไร่ ที่เอกชนจะต้องคิดว่าจะลงทุนอะไรในพื้นที่
เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
@พลิกปูมที่ดินท่าเรือคลองเตย 2,353 ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทท.มีแผนที่จะนำที่ดินท่าเรือกรุงเทพ เนื้อที่ 2,353 ไร่ รีวิวแผนพัฒนาในภาพรวม (Master Plan) และกำหนดแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use) เมื่อประมาณปี 2562 โดยกรอบการพัฒนาฉบับเดิม แบ่งการพัฒนาที่ดินเป็น 3 โซน ประกอบด้วย
โซน 1 พัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (commercial zone) จะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีก และธนาคาร
ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 54 ไร่ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ สถานีพักรถบรรทุกสินค้า รวมถึงมีอาคารสำนักงาน 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) อยู่ในทำเลศักยภาพพัฒนากิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ อาทิ ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน และศูนย์การประชุม
มีศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร15 ไร่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้ากิจการท่าเรือจะนำที่ดินบริเวณโรงฟอกหนังกระทรวงกลาโหม 123 ไร่ พัฒนาสมาร์ทคอมมิวนิตี้ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่รองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ
โซนที่ 2 ปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าห้องเย็น ฮาลาล ลานบริหารจัดการรถบรรทุก และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ
มีท่าเทียบเรือตู้สินค้าบริเวณเขื่อนตะวันตกติดคลองพระโขนง จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ลานกองเก็บตู้สินค้าและอาคารสำนักงาน ปรับปรุงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออกให้ทันสมัยรองรับเรือลำเลียงชายฝั่ง และมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เป็นการระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราด และขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพและ
และโซน 3 พื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Modern City) อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร มีช็อปปิ้งมอลล์ ที่จอดรถ และโรงแรม
ผังพัฒนาที่ดินท่าเรือคลองเตย 2,353 ไร่
ที่มาภาพ: การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)