ป.ป.ช. เปิดบัญชีทรัพย์สิน 'ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม' เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีทรัพย์สินรวมกว่า 27 ล้าน ลงทุนเพียบ รายได้ 2.4 ล้านต่อปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของนายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม กรณีเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 โดย นายศิวรักษ์ แจ้งมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 27,692,286 บาท หนี้สิน 9,870,874 บาท สถานภาพโสด
สำหรับรายละเอียดทรัพย์สินของ นายศิวรักษ์ อายุ 47 ปี ประกอบด้วย เงินฝาก 818,160 บาท ทั้งหมด 19 บัญชี เงินลงทุน 7,894,573 บาท รวม 34 รายการ โดยเงินลงทุนมากที่สุดใน บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด เงินลงทุนรองลงมาในกองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 ที่ดิน 1 รายการ 1,200,000 บาท เป็นที่ดินใน อ.เมือง จ.นนทบุรี โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 รายการ 9,970,000 บาท อาทิบ้านเดี่ยวและ 3 ห้องชุดที่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ยานพาหนะ 1,600,000 บาท เป็นรถยนต์ 2 คัน รุ่น Mercedes Benz CLA200 กับ Honda Civic 1.8 และสิทธิและสัมปทาน 6,209,551 บาท สิทธิส่วยใหญ่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูลฟันต์
ส่วนหนี้สิ้นแจ้งจำนวน 9,870,874 บาท ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชี 110,024 บาท เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 9,651,890 บาท และหนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 108,960 บาท
นายศิวรักษ์ แจ้งรายได้ต่อปี จำนวน 2,450,000 บาท ประกอบด้วย เงินเดือน 2,000,000 บาท และเบี้ยประชุม 50,000 บาท ส่วนรายจ่ายต่อปี 2,096,400 บาท เป็นค่าอุปโภคบริโภค ค่าผ่อนที่อยู่ ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าเบี้ยประกัน ค่ากองทุน RMF ค่าอุปการะมารดา และเงินบริจาคอื่น ๆ
สำหรับ นายศิวรักษ์ แจ้งยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ระบุเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฏากร มาตรา 40(1) - (8) จำนวน 3,122,279 บาท
ทั้งนี้ นายศิวรักษ์ ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล เคยผ่านงานมามากมาย อาทิ คณะอนุกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพานิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม