สตง. ไม่หยุดตรวจ ปม รฟท.ใช้งบ 33 ล้าน เปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งประเด็นหลักความคุ้มค่างบประมาณทั้งระบบ โดยเฉพาะป้ายเดิมที่ถูกรื้อ ก่อนเริ่มดำเนินการวางแผนงานอย่างไร ใช้เงินเท่าไหร่ ปัจจุบันเอาไปใช้งานอะไรต่อ หรือทำลายทิ้ง
แหล่งข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า แม้ว่าคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ของ รฟท.จะออกมาแถลงยืนยันไปแล้วว่า การดำเนินงานโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ วงเงิน 33 ล้านบาท ไม่พบปัญหาความไม่โปร่งใสในการดำเนินการตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมก่อนหน้านี้ แต่การตรวจสอบในส่วนของเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง. ) ก็ยังคงดำเนินการต่อไป ตามนโยบายของผู้ว่าฯ สตง.ที่สั่งการไว้ก่อนหน้านี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า เท่าที่ทราบเกี่ยวกับกรณีนี้ ประเด็นที่ สตง.ให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ไม่ได้อยู่ที่เรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างป้ายใหม่ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร ตรงตามที่ รฟท.ชี้แจงต่อสาธารณชนหรือไม่เท่านั้น แต่อยู่ที่เรื่องความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนป้ายเดิมที่ถูกเปลี่ยนออกไปแล้วว่าใช้งานคุ้มค่ากับเงินงบประมาณแล้วหรือไม่ ทำไมไม่รอให้มีการพระราชทานชื่อในทีเดียว แล้วจึงค่อยดำเนินการติดตั้งป้ายในครั้งเดียว
"กรณีนี้ปัญหาสำคัญที่ สตง.มอง คือ การวางแผนบริหารจัดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดทำป้ายของ รฟท. ทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนของป้ายเดิม ก่อนที่จะเปลี่ยนป้ายใหม่ว่า มีการบริหารจัดการอย่างไร ใช้จ่ายเงินไปเท่าไร ปัจจุบันป้ายไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ถูกรื้อทำลาย ก็นับเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและจะต้องมีผู้รับผิดชอบ" แหล่งข่าวระบุ
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ของการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มขนส่ง เป็นประธาน ได้แถลงการผลการตรวจสอบ เป็นทางการว่า ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท. ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิม ที่ รฟท. ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่า มีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท. ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้
“ขณะนี้ได้รายงานผลการตรวจสอบฯ พร้อมข้อเสนอแนะต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมตามขั้นตอนแล้ว ส่วนจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.จะพิจารณาในฐานะผู้จัดซื้อจัดจ้าง กรรมการตรวจสอบฯ ไม่สามารถไปสั่งการได้ เพราะจะกระทบต่อคู่สัญญาฯ ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่กระทบต่อข้อกฎหมาย จะต้องอยู่ที่คู่สัญญา คือ รฟท.และเอกชน ทั้งนี้ หาก รฟท.พิจารณาเป็นอย่างไร ควรรายงานผลกลับมาที่กระทรวงคมนาคมโดยเร่งด่วนต่อไป” นายสรพงศ์กล่าวตอนหนึ่ง
เปิดข้อสังเกต ‘สภาวิศวกร’ ตั้งราคากลางเปลี่ยนป้าย 33 ล้าน สแกน 5 เหตุผลจ้าง ‘ยูนิค’