'ราชกิจจานุเบกษา' เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยโฆษณาฯ ควบคุมโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการ ‘ยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์’ หากฝ่าฝืนลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ.2565 โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พร้อมทั้งให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง การโฆษณาสินค้าหรือบริการโดยใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ ลงวันที่ 12 มิ.ย.2526 และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา ลงวันที่ 27 ก.ค.2535
สำหรับสาระสำคัญของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณาฯ มีสาระสำคัญ ได้แก่
ข้อ 3 การใช้ข้อความโฆษณาไม่ว่าจะกระทำทางสื่อโฆษณาใดก็ตาม จะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็น ฟัง หรืออ่านได้ชัดเจนตามประเภทของสื่อโฆษณา ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ถ้าข้อความโฆษณาทำเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับข้อความที่เป็นสาระสำคัญด้วยทุกครั้ง
ทั้งนี้ ข้อความที่ใช้เป็นหลักในการโฆษณาทางสื่อต่างๆ ต้องแสดงให้เห็น อ่าน ฟังได้อย่างครบถ้วนชัดเจน และไม่ทำให้ผู้บริโภคหลงผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการข้อความที่แสดงรายละเอียดเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจความหมายของโฆษณาได้อย่างถูกต้อง ให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระท าการโฆษณาปฏิบัติ ดังนี้
(1) สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อโฆษณาอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้ตัวอักษรที่เห็นและอ่านได้ชัดเจน หรือหากเป็นข้อความเสียงให้ใช้ความเร็วและจังหวะในการพูดข้อความโฆษณาให้สามารถรับฟังได้อย่างชัดเจน
(2) วิทยุโทรทัศน์ ให้แสดงอักษรลอย (Super) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 วินาที ด้วยตัวอักษรที่เห็นและอ่านได้ชัดเจนตัดกับสีพื้น และมีขนาดความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่าหนึ่งส่วนในยี่สิบห้าส่วนของขนาดความสูงของจอภาพ
(3) วิทยุกระจายเสียงให้ใช้ความเร็วและจังหวะในการพูดข้อความโฆษณาให้สามารถรับฟังได้อย่างชัดเจน
(4) ป้ายโฆษณา หรือป้ายที่มีแต่ภาพเคลื่อนไหวที่ไม่มีเสียง ให้ใช้ตัวอักษรที่เห็นและอ่านได้ชัดเจนตัดกับสีพื้น มีขนาดไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของขนาดตัวอักษรสูงสุด
(5) หนังสือพิมพ์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ให้ใช้ตัวอักษรที่เห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดความสูงของตัวหนังสือไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร และต้องอยู่ใกล้กับข้อความที่เป็นสาระสำคัญ
ข้อ 4 ในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาต้องยึดถือความเข้าใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เช่น การโฆษณาให้บริการฟรี ผู้บริโภคย่อมเข้าใจว่าการให้บริการนั้นไม่เสียค่าตอบแทน แต่หากการให้บริการฟรีดังกล่าวต้องกระทำภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดใด ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาจะต้องระบุหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขหรือข้อก าหนดให้ครบถ้วน
ข้อ 5 โฆษณาที่แสดงปริมาณ ปริมาตร ขนาด จำนวน ส่วนประกอบของสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณา ต้องโฆษณาให้ตรงกับสินค้าหรือบริการที่ขายหรือให้บริการจริง
ข้อ 6 กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณา อ้างอิงผลการทดสอบหรือทดลองภายใต้สภาวะแวดล้อมหรือเงื่อนไขเฉพาะ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น สภาพพื้นที่ ต้องระบุไว้ในโฆษณาด้วยตัวอักษรให้เห็นและอ่านได้ชัดเจนว่าเป็นผลการทดสอบหรือทดลองของสถาบัน หน่วยงาน หรือ องค์กรใดสภาวะแวดล้อมหรือเงื่อนไขเฉพาะ และให้ภาระการพิสูจน์อยู่ที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำ การโฆษณาและพร้อมที่จะแสดงยืนยันได้ทันทีเมื่อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเรียกให้ไปพิสูจน์ข้อ
ข้อ 7 ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยกเว้น หรือจำกัดความรับผิด หรือข้อความที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในลักษณะทำนองเดียวกันที่ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ
ข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่อาศัยความเชื่อส่วนบุคคลหรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในลักษณะทำนองเดียวกันเป็นสิ่งเชิญชวนหรือชักจูงใจให้ผู้บริโภคที่กำลังมีความทุกข์หรือต้องการที่พึ่งทางใจซื้อสินค้าหรือรับบริการ
ข้อ 9 ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการรับประกันสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาต้องระบุตัวผู้รับประกัน ระยะเวลาการรับประกัน ลักษณะ ขอบเขต ขั้นตอน วิธีการและเงื่อนไขของการปฏิบัติตามสัญญาของการรับประกันให้ชัดเจนและถูกต้องครบถ้วน เพื่อแสดงถึงเจตนาความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณา และมิให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
ข้อ 10 ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเปรียบเทียบคุณสมบัติสินค้าหรือบริการของตนกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน หรือข้อความอ้างอิงข้อเท็จจริงจากรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดในการโฆษณา ตลอดจนรางวัลต่างๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระท าการโฆษณาต้องมีหน้าที่พิสูจน์เอกสารหลักฐานหรือข้อมูลยืนยันได้ในขณะที่โฆษณาโดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอ้างอิง ดังนี้
(1) กรณีอ้างอิงจากหน่วยงานต่างประเทศ ต้องมีเอกสารหลักฐาน ดังนี้
(ก) หนังสือรับรองห้องปฏิบัติการจากหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ
(ข) หนังสือรับรองและรายละเอียดผลการทดสอบ หรือผลการวิจัย หรือผลการสำรวจหรือเอกสารหลักฐานการได้รับรางวัล จากหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ หรือหนังสือรับรองผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการหรือสถาบันทดสอบเอกชนซึ่งหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ให้การรับรอง
(ค) ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระท าการโฆษณาต้องแปลและรับรองความถูกต้องเป็นภาษาไทยโดยการรับรองความถูกต้องของค าแปลเป็นภาษาไทยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
(2) กรณีอ้างอิงจากหน่วยงานในประเทศไทย ต้องมีเอกสารหลักฐาน ดังนี้
(ก) หลักฐานอันแสดงว่า หน่วยงานหรือบุคคลอื่นใดที่ทำการทดสอบ หรือเก็บรวบรวมข้อมูล หรือได้กระทำการวิจัย หรือเก็บผลสำรวจ ให้ความยินยอมและอนุญาตให้ใช้ข้อความนั้นในการโฆษณาได้
(ข) หนังสือรับรองและรายละเอียดผลการทดสอบ หรือผลการวิจัย หรือผลการสำรวจหรือเอกสารหลักฐานการได้รับรางวัลจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ชำนาญการหรือมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่โฆษณานั้น หรือสถาบันของเอกชนที่เชื่อถือได้หรือสถาบันที่มีการศึกษาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ
(ค) กรณีที่เป็นภาษาต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาต้องแปลและรับรองความถูกต้องเป็นภาษาไทย โดยการรับรองความถูกต้องของคำแปลเป็นภาษาไทยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ข้อ 11 ในการพิสูจน์ข้อความโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาตามข้อ 10 ให้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือหรือถือว่าได้รับหนังสือแจ้งให้ใช้สิทธิในการพิสูจน์ เว้นแต่มีพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาอาจพิจารณาให้เลื่อนระยะเวลาในการพิสูจน์ได้ตามที่เห็นสมควร
ถ้าผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่ใช้สิทธิในการพิสูจน์ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระท าการโฆษณาสละสิทธิ์ที่จะพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณานั้น คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาอาจออกคำสั่งตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ได้ และให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณารู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ
ข้อ 12 ถ้าผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่สามารถพิสูจน์ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการเพื่อแสดงความจริงได้ หรือดำเนินการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ฝ่าฝืนจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาฉบับนี้ ให้ถือว่าอาจเป็นข้อความโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
ข้อ 13 ข้อความโฆษณาที่อาจจะเข้าข่ายมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์แสดงไว้ตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้
นอกจากนี้ บัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ.2565 ยังตัวอย่างข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ได้แก่ บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า ขอสงวนสิทธิ์ปัดเศษส่วนลดขึ้น โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ,ภาพสินค้าเป็นเพียงตัวอย่างอาจไม่ตรงกับรุ่นที่จัดโปรโมชั่น หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน (ประกาศข้อ 7)
เมื่อใช้แล้ว จะเห็นผลทันที, เห็นผลภายใน 7 วัน ,รับทำพิธีเรียกคนรักกลับคืนมา , รับแก้เคราะห์ แก้กรรม ,เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์ ,ใครเห็นใครรัก ,นั่งสมาธิดูอดีตชาติ หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน (ประกาศข้อ 8)
ปลอดภัย หายห่วง ,SAFE VALVE แบตระเบิด จ่ายทันที! 200,000 , ไม่ถูกใจยินดีคืนเงิน ,ไม่เห็นผลยินดีคืนเงิน ,รับประกันความพึงพอใจ ,หากสินค้าเกิดความเสียหายจากการขนส่ง เปลี่ยนสินค้าใหม่ทันที ,ใช้ข้อความรับประกันสินค้าโดยไม่ระบุเงื่อนไขให้ชัดเจน หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน (ประกาศข้อ 9)
ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด สุดยอด ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย ,ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว รายเดียว รายแรก เจ้าแรก แห่งเดียว ครั้งแรก มีเพียงที่เดียวในประเทศ ,ยอดขายอันดับ 1, ยอดขายอันดับต้นๆ จากประเทศ.... , ดีกว่า มากกว่า ,มีเพียงแค่ 2 แห่งในประเทศ , เห็นผล 100% ,ข้อความที่อ้างอิงผลการทดสอบ ผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการ หรือที่ได้รับการรับรองจาก.... ,ผ่านมาตรฐานจากสถาบันการการทดสอบจากต่างประเทศ ,ได้รับรางวัล...หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน (ประกาศข้อ 10)
ทั้งนี้ การออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ.2565 เป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติว่า
“ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริตามมาตรา 22 วรรคสอง (1) คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาอาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำการโฆษณาพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้ และในกรณีจำเป็นเร่งด่วน คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาจะออกคำสั่งระงับการโฆษณาดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ก็ได้
ในกรณีที่ผู้กระทำการโฆษณาอ้างอิงรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งในการโฆษณา ถ้าผู้กระทำการโฆษณาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเป็นไปตามที่อ้างอิง คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาอาจออกคำสั่งตามมาตรา 27 ได้ และให้ถือว่าผู้กระทำการโฆษณารู้หรือควรได้รู้ว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จ”
ขณะที่มาตรา 49 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ซึ่งสั่งตามมาตรา 27 หรือมาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”