"สมศักดิ์" เผย ยธ. พร้อมรับ กม. ป้องกันทำผิดซ้ำ-ความรุนแรงทางเพศ มีผลบังคับใช้ 23 ม.ค. ยกเคสล่าสุดแทงเด็กหน้าโรงเรียน- ชายเมาฆ่า อส. หลังพ้นคุกต้องถูกจับตาพิเศษ หวังลดอาชญากรรมรุนแรงสะเทือนขวัญ-ป้องกันคนทำผิดซ้ำ สร้างความปลอดภัยให้สังคม เตรียมประเดิมใส่ EM 2 ราย พ้นโทษ หลัง กม. มีผล พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรับรู้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) ยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจะพบเห็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญหลายกรณีที่ไม่น่าเกิดขึ้น และบางกรณีผู้ก่อเหตุก็กระทำผิดซ้ำ อย่างกรณีล่าสุดที่ นักเรียนหญิงชั้น ม.2 ถูกแทง เสียชีวิต ที่จ.ร้อยเอ็ด ประวัติของคนร้ายเอง ก็เพิ่งออกจากคุกมา และกรณีที่ชายเมาแทง อส. จนตายที่ จ. ตรัง ผู้ก่อเหตุก็เคยต้องคดีฆ่าผู้อื่นถึง 2 คดี เพิ่งพ้นโทษมา หรือกรณีหนุ่มคลั่ง มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุใช้มีดทำครัวไล่แทงชาวบ้านตาย ที่เขตบางกะปิ กทม. เราจะเห็นได้ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็ได้จัดทำ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือ JSOC ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค. นี้ ซึ่งที่ทำผิดคนเหล่านี้เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เราจะมีการจัดให้อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังที่ต้องจับตาดู และเมื่อพ้นโทษออกมาก็จะมีการติดตามด้วยการใส่กำไล EM และอาสาสมัครคุมประพฤติ หรือหากพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจก็ขอให้ศาลสั่งคุมขังฉุกเฉินได้ โดยจะมีการติดกำไล EM 2 รายประเดิมวันที่กฎหมายมีผล
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมหวังที่จะป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้สังคม โดยเฉพาะเด็กและสตรี และเพื่อแก้ปัญหาลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมการทำงานเพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมายแล้ว โดยบูรณาการร่วมกัน ทั้งศาล อัยการ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ ซึ่งนอกจากมาตรการป้องกันแล้ว ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยา เรายังมี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่สามารถช่วยเหลือเยียวยา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา และให้คำปรึกษาในเรื่องของคดีความ รวมถึงการเยียวยาจิตใจ โดยผู้เสียหายมีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ทั้งกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงสำนักงานยุติธรรมจังหวัดที่จะลงไปช่วยดูแลและให้คำปรึกษาต่างๆ อีกด้วย
"หากเรารู้ว่ามีคนร้ายอยู่ในสังคม ก็จะไม่มีคนตาย เพราะเรามีมาตรการเฝ้าระวัง มีเครื่องมือในการควบคุม ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาช่วยกันสอดส่อง และยังมีการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายอีกด้วย ที่กระทรวงยุติธรรมเร่งทำกฎหมายนี้จนสำเร็จ เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยโดยเฉพาะเด็กและสตรี ลดการก่ออาชญากรรม การกลับมาทำผิดซ้ำ ซึ่งผมได้เร่งให้กระทรวงเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ ให้เข้าถึงให้มากที่สุด ตามนโนบาย ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน" นายสมศักดิ์ กล่าว