สหภาพแรงงาน กฟภ.ทำหนังสือจี้ผู้ว่าฯ ดำเนินการตรวจปม กก.สอบข้อเท็จจริง เหตุใดมีความเห็นลงโทษตักเตือน 2 พนักงาน กฟภ.หลังเสนอไม่ให้ บ.บูรพาเป็นผู้ทิ้งงาน ว่าทำงานไม่รอบคอบ หวั่นมีกระบวนการหาแพะรับผิดปมสายส่ง ระบบ 115 เควี ช่วง สถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 ไม่แล้วเสร็จ
สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2565 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าวความไม่ชอบมาพากลกรณีที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ดำเนินการสอบ บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ทำงานไม่แล้วเสร็จในโครงการงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ระบบ 115 เควี ช่วง สถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 - สถานีไฟฟ้าสายบุรี จ.ปัตตานี มูลค่า 125 ล้านบาท จนมีคำสั่งจากกรมบัญชีกลางในครั้งแรกให้เป็น “ผู้ทิ้งงาน”
แต่เมื่อนางสาวกุลยา ตันติเตมิท เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ ได้รับเรื่องอุทธรณ์ และได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมกลับมาเป็น “ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน”
อย่างไรก็ดี ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว มีข้อสงสัย เพราะมีการลงโทษพนักงาน กฟภ.จำนวนสองคนได้แก่ นายส. และนายสม. (ชื่ออักษรย่อ) ทั้งที่บุคคลทั้ง 2 เป็นผู้ที่เห็นด้วยว่า บริษัท บูรพาฯ ไม่เป็นผู้ทิ้งงาน โดยระบุในรายละเอียดของการลงโทษว่า
"คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จึงเห็นควรให้ผู้บังคับบัญชาของนายส. และนายสม. (ชื่ออักษรย่อ) ตักเตือนบุคคลดังกล่าว ให้ปฏิบัติงานให้ละเอียดรอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเห็นควรให้ กฟภ. ทำหนังสือแจ้งเวียนกำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก”
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าล่าสุดสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.)ได้ทำหนังสือลงวันที่ 15 พ.ย. 2565 ส่งถึงนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรียกร้องให้มีการตรวจสอบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าสงสัยดังกล่าว และให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการไม่สั่งให้บริษัทบูรพาฯ เป็นผู้ที่ไม่ทิ้งงาน
โดยมีรายละเอียดหนังสือดังต่อไปนี้
1.สร.กฟภ. ได้มีหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงการคลังกรณีที่มีคําสั่งเพิกถอน บริษัท บูรพาฯ ที่สังคมกําลังตั้งข้อสงสัยอยู่ โดยเฉพาะประเด็นที่กระทรวงการคลังอ้างว่า เป็นข้อเท็จจริงใหม่ อันเป็นสาระสําคัญ และเป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทําให้บริษัท บูรพาฯ ไม่สมควรถูกสั่งให้ เป็นผู้ทิ้งงานนั้น ควรเปิดเผยให้ สังคมรับรู้ในทันทีเพราะเชื่อว่า เหตุผลและประเด็นที่อ้างถึงนั้นไม่ถือเป็นความลับ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการ คําชี้แจงแต่อย่างไร หรือ “ข้อเท็จจริงใหม่” ที่กล่าว อ้างนั้น เป็นคําสั่งจากผู้มีอํานาจ (ที่แฝงมากับผลประโยชน์ต่างตอบแทน)
2. จากคําสั่งลงโทษพนักงาน กฟภ. 2 คน ที่อ้างว่าไม่มีความรอบคอบและเหตุผลอื่นนั้นขัดแย้งกับ ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาที่ระบุว่าบริษัท บูรพาฯ ไม่ได้เป็นผู้ทิ้งงาน เพราะ
1 อ้างถึงมติ ครม. ที่ระบุไว้ว่าต้องให้ความช่วยเหลือคู่สัญญาที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
2. อ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาการยกเลิกสัญญาเพราะเหตุบริษัท บูรพาฯ ทํางานล่าช้า โดยไม่มีเหตุผลอันควร จึงเป็นเพียงเหตุในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเป็นผู้ทิ้งงานจึงไม่ได้นํามา ประกอบการพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน
3 เพื่อให้เกิดความมั่นใจ คณะทํางานได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ประสบการณ์มาร่วมประชุมฯ ให้ความเห็นและเสนอแนวทางในการปฏิบัติจนได้ข้อสรุป จากนั้นก็นําเรื่องเสนอรองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการเพื่อขออนุมัติตามมติที่ ประชุมในเรื่องการบอกเลิกสัญญาฯกับบริษัทรับจ้างเท่านั้น และ ได้แจ้งเวียนให้ส่วนเกี่ยวข้องทราบ โดยไม่ได้ กล่าวถึงเรื่องการเป็นผู้ทิ้งงานแต่อย่างใด
สร.กฟภ.ยังได้มีข้อเสนอแนะระบุว่า
1.คําสั่งลงโทษพนักงาน กฟภ. 2 คน ที่อ้างว่า ไม่รอบคอบ ไม่ศึกษารายละเอียด เป็นเพียง ข้ออ้าง เพื่อหาเหตุในการลงโทษเท่านั้น ทั้งที่เขาเหล่านั้นไม่ได้มีพฤติกรรมกระทําให้ กฟภ. เสียหาย เห็นควรให้ กฟภ. ทบทวนและยกเลิกคําสั่งลงโทษ เพื่อสร้างความชอบธรรม ให้กลับคืนมา
2.ทําไมจึงเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น ในช่วงที่ กฟภ. มีข้อพิพาท กับบริษัท บูรพาฯ ในประเด็นการ เป็นผู้ทิ้งงาน จนทําให้มีงานค้างงานไม่แล้วเสร็จ ทั้งเรื่องการปักเสาพาดสายส่งระบบ 115 เควี สถานีไฟฟ้าย่อยไม่ได้ ใช้งาน การเชื่อมโยงระบบจําหน่ายแรงสูงและแรงต่ําและอื่น ๆ เกิดความเสียหายกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งเรื่องควา มั่นคงของระบบความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน และความเสียหายที่เกิดกับ กฟภ. ทั้งหมดนี้ ถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
3.หากการสร้างประเด็นและเงื่อนไขใหม่มา เพื่อต้องการกลบกระแสในเรื่องความเสียหายนั้น จึงน่าจะมีนัยยะแอบแฝง เช่น ต้องการเบี่ยงเบน หรือหาบันไดลง หรือลดกระแสความ ขัดแย้ง แม้แต่สร้างตัวละคร (แพะ) ให้มาเป็นผู้รับผิดชอบ (สังเกตได้จากคําสั่งที่ลงโทษนั้น ไม่สมเหตุสมผลกับเรื่องที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะพยายาม สร้างประเด็นใดก็ตาม ก็ไม่ทําให้สังคม คล้อยตามได้เพราะเราเชื่อว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ กฟภ. นั้น ส่วนเกี่ยวข้อง ได้ดําเนินการนําเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว สร.กฟภ. จะติดตามความคืบหน้าต่อไป
สร.กฟภ.ระบุต่อไปว่าถึงแม้ว่าพนักงานทั้ง 2 คน จะไม่ได้ออกมาตีโพยตีพายว่าเขาถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่สิ่งที่ผู้บริหาร กฟภ. ควรตระหนักก็คือ คุณธรรม ความถูกต้อง และกําลังใจแก่ ผู้ปฏิบัติงาน เพราะ กฟภ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีบุคลากรจํานวนมากทั่วประเทศ มีทรัพย์สินเป็นแสนล้าน มีชื่อเสียงในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทําหน้าที่ให้การบริการมาอย่างยาวนาน จะกระทําการใดต้อง รอบคอบ โปร่งใส อย่าทําให้สังคมคิดไปเองว่า ผู้บริหาร กฟภ. กําลังทําเพื่อองค์กร หรือ ฟอกผิด หรือ การันตีความถูกต้องให้คู่กรณี
ดังนั้น สร.กฟภ. จึงเสนอให้ผู้มีอํานาจจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเป็นผู้ทิ้งงาน ภายใต้ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ การจ้างงาน ให้เป็นรูปธรรม จะได้ไม่ซ้ำซ้อนมีผู้รับผิดชอบโดยตรงในการออกคําสั่ง ไม่ใช่ มาเสาะหาคน รับผิดชอบในภายหลัง
สร.กฟภ.ยังได้ระบุทิ้งท้ายด้วยว่าขอให้ผู้บริหาร กฟภ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความชอบธรรมและความ เชื่อมั่นกลับมาคืนความชอบธรรมเพื่อเป็นขวัญและกําลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานและดําเนินการบริหารจัดการองค์กร ด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความเชื่อถือเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน นํามาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของ องค์กรและพนักงาน กฟภ. ทั่วประเทศที่สะสมมาอย่างยาวนานต่อไป