ศูนย์จีโนมฯ คาดโอไมครอน BN.1.2-BN.1.3 จะมาแทนที่ BA.2.75 ในไทยภายในไตรมาศแรก แนะถอดรหัสพันธุกรรมที่พบในทันที เพื่อเตรียมรับมือการระบาด ทั้งวัคซีน-ยา ด้าน 'หมอยง' เผยโควิดจากจีนไม่น่าเป็นห่วงไปกว่ายุโรป-อเมริกา ชี้ทุกอย่างจะเข้าสู่วงจรปกติที่เป็นโรคตามฤดูกาล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2566 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า
โอไมครอน “BN.1.2 และ BN.1.3” ขณะนี้พบระบาดในไทยมากที่สุดในโลก คาดว่าจะมาแทนที่โอไมครอน BA.2.75 ในไทยภายในไตรมาศแรก ส่วนเดลตาครอน "XAY.2" จากรหัสพันธุกรรม (ประเมินจาก XAY.1.1) คาดว่าจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจับกับผิวเซลล์ผู้ติดเชื้อได้ไม่ดีเท่ากับโอไมครอน BN.1.3
จากการวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดทั้งจีโนมที่หน่วยงานไทยนำโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯและภาคี ที่ได้อัปโหลดไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ใน 1 เดือนที่ผ่านมา (1ธันวาคม 2565-6 มกราคม 2566) จำนวน 161 ตัวอย่าง พบว่าเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BN.1.3 ซึ่งมีส่วนแบ่งการระบาดในไทยเพิ่มขึ้นถึง 45% ติดตามด้วย BN.1.2 ประมาณ 16% ส่วนอันดับที่ 3 ห่างจากอันดับหนึ่งและสองค่อนข้างมากคือ โอไมครอน CH.1.1 มีส่วนแบ่งการระบาดในประเทศประมาณ 5%
โอไมครอน BN 1.3, BN.1.2 และ CH1.1 เป็นรุ่นลูกและรุ่นหลานของโอไมครอน BA.2.75 ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการระบาดในเดือนธันวาคม 2565 ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1%
โอไมครอน BN.1.2 เดิมพบระบาดในญี่ปุ่น 18.0% เดนมาร์ก 12.0% ออสเตรเลีย 12.0% สหรัฐอเมริกา 9.0% เกาหลีใต้ 9.0% แต่ปัจจุบันพบระบาดในกัมพูชามากที่สุดในโลกถึง 2ึ7% รองลงมาคือไทย 24%
โอไมครอน BN.1.3 เดิมพบการระบาดในสหรัฐอเมริกา 16.0% ออสเตรเลีย 13.0% เยอรมนี 10.0% ญี่ปุ่น 9.0% เกาหลีใต้ 9.0% ปัจจุบันพบระบาดในประเทศไทยมากที่สุดในโลกถึง 34% รองลงมาคือกัมพูชา 16%
ในไทยพบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BN.1.3 มีส่วนแบ่งการระบาดมากที่สุดถึง 45% จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบโปรตีนส่วนหนามมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโอไมครอน BA.2.75 จำนวน 4 ตำแหน่งคือ G339H, R346T, K356T, และ F490S ส่งผลให้ BN.1.3 จับกับผิวเซลล์ผู้ติดเชื้อได้แน่นกว่าโอไมครอน XBB.1.5 แต่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่า XBB.1.5 และ BQ.1.1
ส่วนเดลตาครอน XAY.1.1 คำนวณจากรหัสพันธุกรรมพบว่ามีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการจับกับผิวเซลล์ที่ด้อยกว่าโอไมครอน BN.1.3 และ XBB.1.5 ตามลำดับ ทำให้พอประเมินจาก XAY.1.1 ได้ว่า XAY.2 ที่พบในไทย 1 ราย (ซึ่งยังไม่มีจำนวนตัวอย่างที่ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมมากพอที่จะคำนวณหาประสิทธิภาพการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการจับกับผิวเซลล์) น่าจะฝ่าด่านโอไมครอน BN.1.3 เข้ามาแพร่ระบาดในไทยได้ยาก
จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาพบว่าโอไมครอนสายพันธุ์หลักในสหรัฐอเมริกา “XBB.1.5” ยังคงครองความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าโควิดทุกสายพันธุ์ในโลก และมากกว่าโอไมครอน “CN.1.3” ที่กำลังระบาดในไทยถึง 109 %
ในขณะที่ BN.1.2 และ BN.1.3 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.2.75 ไม่มากนักคือประมาณ 36% และ 33% ตามลำดับ
ดังนั้น จึงมีความเป็นที่จำเป็นอย่างมากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขไทยทั้งภาครัฐ จิตอาสา และเอกชนต้องร่วมด้วยช่วยกันสุ่มตรวจ PCR และถอดรหัสพันธุกรรมโควิดทั้งจีโนม (genomic surveillance) ที่พบการติดเชื้อในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและในทันทีเพื่อชี้เป้าให้หน่วยการที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมจำกัดวงการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งมีข้อมูลล่าสุดของการกลายพันธุ์ของโควิดเพื่อเตรียมวัคซีนในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และเตรียมความพร้อมด้านยาต้านไวรัสที่เหมาะสมเพื่อการรักษาลดระยะเวลาของผู้ติดเชื้อในการเข้ารักษาตัวใน รพ. ให้สั้นลงและลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง 608 เมื่อมีการติดเชื้อได้ทันท่วงที
'หมอยง' ชี้โควิดจากจีนไม่น่าห่วงกว่ายุโรป-อเมริกา เพราะในไทยเคยระบาดไปแล้ว
ทางด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ตามช่วงระยะเวลา
จากข้อมูลที่แสดงดังรูป โดยดึงข้อมูลที่พบสายพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ไทย และจีนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน ถ้าดูตามสายพันธุ์ย่อยที่พบแล้วจะเห็นว่าสายพันธุ์ที่พบในอเมริกาจะพบก่อนประเทศไทย หรือประเทศไทยจะระบาดตามหลังสายพันธุ์ที่ในอเมริกา และเช่นเดียวกันสายพันธุ์ที่ในจีน ก็จะพบระบาดตามหลังสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย
เห็นได้ชัดว่าขณะนี้ในประเทศจีนระบาดด้วยสายพันธุ์ BA.5.2 สายพันธุ์นี้ได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้วในประเทศไทย ในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ตามหลังประเทศอเมริกา ในอเมริกาเองขณะนี้ระบาดเป็นสายพันธุ์ BQ1.1 ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังในประเทศไทยต่อไป และในขณะนี้สายพันธุ์ที่อยู่ในตะวันตกและอเมริกา ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือสายพันธุ์ XBB.1.5 เป็นสายพันธุ์ที่จะระบาดต่อจาก BQ และแพร่กระจายได้ง่าย รวมทั้งหลบหลีกภูมิต้านทาน ที่จะระบาดได้เร็วที่กำลังพบเพิ่มขึ้นในอเมริกา และคาดว่าจะเข้ามาแทนที่ในตัวต่อไป
ดังนั้น สายพันธุ์จากจีนมาสู่ประเทศไทยที่เป็น BA.5.2 ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะระบาดในประเทศไทยผ่านไปแล้ว แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ BQ หรือ XBB.1.5 จากอเมริกา และยุโรป เข้ามาก็อาจจะเกิดการระบาดได้อีก