สหภาพรถไฟ ค้านย้าย รถไฟ 52 ขบวนไปสถานีกลางกทม.อภิวัฒน์ ชี้ประชาชนไม่สะดวกและระบบรองรับ-เชื่อมต่อเข้าสถานีกลางยังไม่ดีพอ ก่อนเปิดโผ 52 ขบวนรถไฟที่จะย้ายไป 19 ม.ค.นี้
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 ได้เข้ายืนหนังสือต่อนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อคัดค้านนโยบายการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จำนวน 52 ขบวน มาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในวันที่ 19 ม.ค. 2566 นี้ ซึ่งมีนายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่า รฟท. มารับหนังสือแทน
@อ้างปชช.ยังไม่อยากให้ย้าย
เหตุผลที่คัดค้าน เนื่องจากทางสหภาพฯ ได้ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการรถไฟบริเวณสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565 และวันที่ 3 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเทศกาลที่ประชาชนใช้บริการเดินทางโดยรถไฟเป็นจำนวนมาก โดยได้รับฟังเสียงสะท้อนผลกระทบความเดือดร้อนของผู้โดยสาร ที่ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางหากการรถไฟจะย้ายขบวนรถทางไกลทั้งหมดออกมาที่สถานีกลางบางซื่อ และมีข้อเสนอแนะให้การรถไฟฯทบทวนยกเลิกการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนประชาชนที่ใช้บริการ
@ชี้’กทม.อภิวัฒน์’ระบบเชื่อมต่อ-รองรับยังไม่ดีพอ
นอกจากนั้น สร.รฟท. ได้ลงพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อสำรวจความพร้อมในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง พบว่า ยังไม่มีความพร้อมที่สมบูรณ์ในการให้บริการกับผู้โดยสาร เช่น ระบบ Feeder ที่รองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่สะดวกมาใช้บริการ หรือที่จะเดินทางจากพื้นที่บริเวณใกล้สถานีกรุงเทพ ต้องมาที่สถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงต่อขยาย บางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ยังไม่มีการก่อสร้าง , ความพร้อมของรถจักร (ระบบ ATP) และจำนวนขบวนรถโดยสาร (ระบบสุขาแบบปิด) ที่จะรองรับในการเดินขบวนรถบนเส้นทางยกระดับ ระบบสนับสนุนในด้านการเดินขบวนรถ (พื้นที่จุดซ่อมบำรุงเตรียมความพร้อมของขบวนรถประจำวันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงาน อะไหล่ วัสดุอุปกรณ์ในซ่อมบำรุง และ ที่พักเตรียมความพร้อมของพนักงานขบวนรถ) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการทำงานตามระบบการเดินรถรูปแบบใหม่ที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังไม่ได้รับการอบรมและซักซ้อมทำความเข้าใจในการปฏิบัติงานอย่างครบถ้วน
และเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลงสภาพการจ้างในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างต้องทำความตกลงกับสหภาพแรงงานก่อน โดยที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีการหารือ หรือตกลงกับ สร.รฟท.แต่อย่างใด ซึ่งความไม่พร้อมทั้งหมดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการเดินรถซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากการรถไฟฯ มีการดำเนินการตามแผนนโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการการเดินทางโดยรถไฟกับประชาชน และกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการทำหน้าที่ให้บริการระบบขนส่งสาธารณูปโภค รวมถึงกระทบต่อขวัญกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน
@การพัฒนาต้องไม่ผลักภาระให้ประชาชน
สหภาพฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 40 (4) ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ
สร.รฟท. ไม่ได้คัดค้านในเรื่องของการพัฒนากิจการรถไฟฯ แต่การพัฒนานั้นไม่ควรผลักภาระให้กับประชาชน หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นของการรถไฟฯจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในการใช้บริการรถไฟ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยที่การรถไฟฯยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาดําเนินการ และจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการทำหน้าที่ให้บริการระบบขนส่งสาธารณูปโภค รวมถึงกระทบต่อขวัญกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน และปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ในองค์กร
ด้วยเหตุนี้ สร.รฟท. ขอคัดค้านนโยบายในการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) ทั้งหมดมาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนและละเมิดสิทธิของประชาชน รวมทั้งการขัดต่อข้อตกลงสภาพการจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของผู้ปฏิบัติงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน
ขอเสนอให้การรถไฟฯยังคงให้มีขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ทุกขบวนออกต้นทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และดำเนินการให้เป็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน รวมถึงรักษาภาพลักษณ์ในการบริการประชาชนของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจกับผู้ปฏิบัติต่อไป
@เปิดโผ 52 ขบวนรถไฟไป ‘กทม.อภิวัฒน์’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ รฟท. เปิดเผยว่า การรถไฟฯ กำหนดเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ในเวลา 13.19 น. เป็นขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA เพื่อการท่องเที่ยว ต้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ปลายทางสถานีอยุธยา โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจสามารถซื้อตั๋วโดยสารนำเที่ยวโปรแกรมพิเศษนี้
ส่วนขบวนรถโดยสารเที่ยวแรกที่จะออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์คือขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพ – สุไหงโกลก โดยการรถไฟฯ ได้เตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในทุกๆ ด้าน
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้เริ่มจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า 30 วัน ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารและเดินทางตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป จะปรากฏสถานีต้นทางหรือปลายทางของขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (กภ.) บนตั๋วโดยสาร
ทั้งนี้ ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง จะยังคงใช้สถานีต้นทาง/ปลายทาง ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เช่นเดิม
นับจากวันที่ 19 มกราคม 2566 ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีดอนเมือง (เฉพาะที่สถานีดอนเมือง จะเป็นสถานียกระดับ) จะไม่มีขบวนรถโดยสารวิ่งระดับพื้นดิน ซึ่งมีทางจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ 8 แห่ง บนถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน และจะไม่มีขบวนรถไฟโดยสารเดินบนเส้นทางรถไฟเดิมระดับดิน และจะยกเลิกการใช้ป้ายหยุดรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19
ส่วนขบวนรถในเส้นทางสายใต้ก็จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีบางบำหรุ ยกเว้นขบวนรถธรรมดา และชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม
โดยนายเอกรัชระบุว่า ทั้งหมดนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณจุดตัดได้เป็นอย่างดี ขบวนรถไฟสามารถเดินตรงตามเวลาได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องผ่านจุดตัดทางรถไฟกับรถยนต์ ทั้งนี้ ขบวนรถที่ต้องเข้าสถานีกรุงเทพที่มี 100 กว่าขบวนต่อวันก็จะลดลง ลดปัญหาการจราจรในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ อย่างเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง
สำหรับขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ที่จะเปลี่ยนสถานีต้นทาง ปลายทาง มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ จำนวน 14 ขบวน สายใต้ 20 ขบวน และสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน
@รถไฟชั้น 3 - ชานเมือง ยังอยู่ ‘หัวลำโพง’
กลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามเดิม ตั้งแต่ กรุงเทพ สามเสน ชุมทางบางซื่อ และจะขึ้นทางยกระดับเดินรถร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ยกเว้นขบวนรถธรรมดา และชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์ การรถไฟฯ จึงให้สิทธิ์ผู้โดยสารสามารถใช้ตั๋วโดยสารขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถนำตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพื่อเชื่อมต่อที่สถานีดอนเมือง (ยกระดับ) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุอยู่บนตั๋วโดยสาร
สำหรับผู้โดยสารที่เคยขึ้น-ลงสถานีรถไฟทางไกล (ระดับพื้นดิน) ที่มีการยกเลิกให้บริการรับ-ส่ง การรถไฟฯ มีมาตรการอำนวยความสะดวก โดยผู้โดยสารในขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
รถชานเมือง
สำหรับผู้ใช้บริการขบวนรถชานเมือง สามารถใช้ตั๋วเดือนเข้าใช้รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม การให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ได้ดำเนินการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี เช่น ป้ายบอกทาง ที่พักคอยผู้โดยสาร รถเข็นสัมภาระ ลานจอดรถ เพื่อรองรับการใช้บริการที่สะดวกสบาย ปลอดภัย คลอบคลุมสำหรับผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย โดยทางเข้าของผู้โดยสารจะอยู่ที่ประตู 4 และจะมีช่องจำหน่ายตั๋วให้บริการทั้งหมด 10 ช่อง ผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสารสามารถรอการโดยสารภายในโถงด้านล่างสถานี เพื่อรอขึ้นขบวนรถบนชานชาลาก่อนขบวนรถออก 20 นาที โดยสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออกจะอยู่ที่ชานชาลา 1 - 2 และขาเข้าจะอยู่ที่ชานชาลา 5 – 6 ส่วนสายใต้ขาออก จะอยู่ที่ชานชาลา 7 - 8 และขาเข้าอยู่ที่ชานชาลา 11 - 12 ส่วนการ เดินทางภายในสถานีเพื่อเชื่อมต่อระบบสาธารณะนั้น จะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อโดยสาร และใกล้จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ม่วง ชมพู อีกทั้งยังอยู่ใกล้สถานีขนส่งผู้โดสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) มีรถโดยสารประจำทาง 3 สาย ให้บริการ ได้แก่ สาย 3 สาย 49 และ สาย 67