สธ.เผยมาตรการรับ นทท.ยึดหลักเท่าเทียมกันทุกชาติ หากประเทศไหนมีเงื่อนไขตรวจ PCR ก่อนกลับ ต้องซื้อประกัน ย้ำมีระบบติดตามเฝ้าระวัง ขอคนไทยอย่ากังวล ยันระบบสาธารณสุขมีความพร้อม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมเตรียมความพร้อมรับผู้เดินทางเข้าประเทศจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และกรุงเทพมหานคร ว่า ตั้งแต่เปิดประเทศมีการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ สายการบินมีคนเดินทางมากขึ้น 80% ทำให้ธุรกิจต่างๆ การจ้างงานพลิกฟื้นกลับมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) การควบคุมป้องกันโรคติดต่อกลับมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งต้องประสานความร่วมมือดำเนินงานจากทุกฝ่าย โดยการประชุมวันนี้สืบเนื่องมาจากหลังวันที่ 8 มกราคม 2566 ทางการจีนจะเริ่มอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรวมถึงจีน โดยคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่มีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์และหลายๆ หน่วยงาน มีความเห็นตรงกันให้ปฏิบัติตามแนวทางโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และปฏิบัติกับผู้เดินทางจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของไทยมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีแผนเตรียมความพร้อมหากการระบาดของโรครุนแรงเพิ่มขึ้น
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการรับนักท่องเที่ยว โดยมาตรการด้านสาธารณสุข คือ ก่อนเข้าประเทศไทย ให้นักเดินทางฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 2 เข็ม หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรเลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเพื่อลดการแพร่โรค และหากประเทศใดมีข้อกำหนดให้ผู้เดินทางต้องมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนกลับเข้าประเทศ ต้องให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครอบคลุมการตรวจรักษาโรคโควิด 19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหากตรวจพบบเชื้อหรือป่วย
ส่วนมาตรการขณะพำนักในประเทศไทย แนะนำให้ผู้เดินทางป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศ เช่น สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ/ขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และหากมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาล กรณีเดินทางออกจากประเทศไทยและประเทศปลายทางมีนโยบายตรวจคัดกรองก่อนเข้าประเทศ แนะนำให้พักในโรงแรม SHA+ ซึ่งจะมีบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นอกจากนี้จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อปรับมาตรการตามสถานการณ์ความเสี่ยง เช่น อัตราการติดเชื้อสูง หรือ พบเชื้อกลายพันธุ์ด้วย โดยจะมีการเฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีอาการทางเดินหายใจ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีผู้เดินทางจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มกลไกการรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวและผลการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน กำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อในอัตราสูงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงเฝ้าระวังและตรวจเชื้อโควิด 19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน ทั้งนี้ จะมีการสื่อสารถึงนักเดินทางเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และเพิ่มความร่วมมือในการลดความเสี่ยงแพร่โรค
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการเตรียมความพร้อมในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ได้ให้เพิ่มศักยภาพระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งสถานพยาบาลและ Hospitel เพื่อรองรับผู้ที่มีผลตรวจพบเชื้อโควิด 19 และขอความร่วมมือให้ผู้บริการในอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวและคมนาคมเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบ 4 เข็ม เพื่อความปลอดภัย เพราะถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในเวลานี้ แต่ยังคงพบผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ โดยข้อมูลวันที่ 25-31 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วยปอดอักเสบ 529 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 352 ราย และผู้เสียชีวิต 75 ราย (เฉลี่ย 10 รายต่อวัน) ซึ่งผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 607 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้ให้ทุกคนฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิต
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วม 3 กระทรวงเตรียมพร้อมนักท่องเที่ยวจีน ว่า ได้มีการประชุมร่วม 3 กระทรวงฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการต่างๆ ยึดตามกฎหมายที่มี ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยมีคณะกรรมการวิชาการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งมีนพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม และยืนยันว่า มาตรการที่ออกมายึดตามหลักทางการแพทย์และสาธารณสุข ยึดตามข้อมูลที่มีอยู่จริง ส่วนที่กังวลกัน เข้าใจว่าหวังดี แต่อาจยึดข้อมูลจากต่างประเทศ จากโซเชียลฯ ที่มีทั้งจริงและไม่จริง จนทำให้เกิดข้อกังวล ขอยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขยึดหลักการวิชาการทั้งหมด ดังนี้
-
มาตรการอะไรก็ตามที่ออกมาเป็นไปตามมาตรฐานประเทศไทย เน้นความปลอดภัยของคนที่เข้ามาและความปลอดภัยของคนไทยเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดนั้น จริงๆโอมิครอนไม่ได้กลายพันธุ์จนเกิดปัญหาหนักๆเลย ไม่มีการดื้อยา ดื้อวัคซีน
-
ภูมิคุ้มกันของคนไทยและทั่วโลกขณะนี้ มีค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นจากการติดเชื้อ หรือจากวัคซีน
-
ระบบการจัดการของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวัง การรักษา ยา เวชภัณฑ์ มีเพียงพอ
-
จากการประเมินมาตรฐานของไทย ให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีการฉีดวัคซีน ซึ่งตรงกับองค์การอนามัยโลก
“ส่วนประเทศใดที่มีมาตรการเพิ่มเติม กำหนดว่า ก่อนเดินทางเข้าประเทศต้องมีผลตรวจ RT-PCR ก่อน เราก็ยินดี แต่หากตรวจแล้วพบเป็นผลบวกขึ้นมา ก็จะต้องเข้าระบบการรักษามีค่าใช้จ่าย ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายของผู้เดินทางและงบประมาณประเทศไทย เราก็จะกำหนดให้มีการทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดรายละเอียดไว้อยู่ แต่ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ต้อง RT-PCR ก่อนกลับประเทศ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อประกัน โดยทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับค่าเหยียบแผ่นดินของกระทรวงท่องเที่ยวฯ” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับคนในประเทศไทยก็ขอให้มารับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยคนละ 4 เข็ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รับครบ 4 เข็มแล้วจะไม่ต้องระวัง หากที่ใดมีความเสี่ยงก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดการติดเชื้อ
ส่วนสถานประกอบการในจังหวัดท่องเที่ยวก็ขอให้เข้มงวดมาตรการ SHA Plus และให้พนักงานทุกคนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย
"ย้ำอีกครั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ให้ข้อมูลว่าไม่น่ากังวล ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนในไทยไม่ได้กลายพันธุ์มาก ขณะที่จีนก็ไม่แตกต่าง และทั่วโลกก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยืนยันข้อมูลตามหลักวิชาการ ตั้งแต่ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาก็เป็นไปตามคาดการณ์ ไม่ได้กังวลมาก ขอให้ยึดตามข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข" นพ.โอภาส ระบุ
เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีการเก็บตัวอย่างจากน้ำใช้บนเครื่องบิน นพ.โอภาส กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้พูดเรื่องนี้ แต่ต้องเรียนว่า การตรวจ RT-PCR มีความไวต่อโมเลกุลของไวรัสมาก แม้จะเป็นซากเชื้อก็ตรวจเจอ และด้วยไวรัสมีอยู่ทั่วโลก ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าอาจจะได้ประโยชน์แต่น้อย เพราะการตรวจพบก็ยังไม่สามารถบ่งชี้อะไรได้มาก ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรค จะสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำใช้ในเที่ยวบิน ที่ไม่ใช่เฉพาะลำใดลำหนึ่ง แต่ก็จะสุ่มตรวจทั้งเที่ยวบินจากตะวันตก ตะวันออก เป็นต้น
เมื่อถามถึงข้อกังวลสาเหตุที่ไทยไม่ตรวจเชื้อโควิดนักท่องเที่ยวก่อนเข้าประเทศอีกครั้งเมื่อมาถึงไทย และอาจเกิดการตีตราชาวจีน นพ.โอภาส กล่าวว่า ตอนนี้เชื้อมีอยู่ทั่วโลก ค่อนข้างพิสูจน์ยากว่าติดเชื้อก่อนหรือมาอยู่ในไทยแล้วติดเชื้อ จริงๆสายพันธุ์จีน บ้านเราเจอมาหมดแล้วอย่าง BA.5 เราก็เจอมาแล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดตอนนี้เข้าปีที่ 4 แล้ว จึงไม่ควรคิดเหมือนช่วงระบาดแรกๆ เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา อย่าคิดแบบเดิม อย่าคิดโดยใช้ความรู้สึกเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เราต้องดูตามหลักฐานที่มีอยู่จริง ตอนนี้เรามีความรู้มากพอแล้ว นักวิชาการ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องกังวลมาก ทั้งในแง่สายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันเราก็มีเพิ่มขึ้น คนทั่วโลกก็มีภูมิฯมากขึ้น เพราะฉีดวัคซีนกันมากกว่า 80% แล้ว จึงไม่น่ามีเหตุการณ์รุนแรง ขอให้มั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ประมาท เรามีมาตรการและติดตามประเมินผลตลอด ขอให้มั่นใจว่า ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ
“เราไม่เลือกปฏิบัติ เพียงแต่ประเทศใดให้มีการตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศตัวเอง เราก็จะให้มีการทำประกันสุขภาพ ส่วนจังหวัดท่องเที่ยว มาตรการที่เราใช้ได้ดี อย่างโรงแรม มีระบบSHA Plus ก็ให้ทำให้เข้มข้นเช่นเดิม ทั้งฉีดวัคซีนพนักงาน ระบบระบายอากาศ ก็ให้ทำ ซึ่งกรมควบคุมโรคมีมาตรการเฝ้าระวังอยู่แล้ว” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนให้นักท่องเที่ยว ว่า ไทยมีเพียงพอ และหากนักท่องเที่ยวจะฉีด เราก็ยินดี เพราะไทยเรามีนโยบายเมดิคัล ฮับ เราก็มีให้ได้ แต่ต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วนจะฉีดแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ หรือชนิดใดก็เป็นเรื่องสมัครใจของนักท่องเที่ยว แต่มีค่าบริการอยู่ในรูปแบบเมดิคัล ฮับ ส่วนคนไทยขอให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 4 เดือนแล้วให้มาฉีดกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608