"รมว.ยธ." เซ็นแต่งตั้งกรรมการสอบ 2 ชุด ปม "ประสิทธิหนีคุก-จนท. ดีเอสไอร้องขอความเป็นธรรม" สั่งสรุปผลใน 30 วัน หลังราชทัณฑ์แจงไม่ข้อมูลไม่ชัดเจน รับมีผู้ใหญ่แนะปรับองค์กรดีเอสไอ เหตุคนดีเอ็นเอต่างกันร่วมกันทำงาน-ป้องกันสื่อขยายผลปัญหากระทบการทำงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา 2 ชุด เรื่องที่สังคมให้ความสนใจ คือ กรณีนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงพยายามหลบหนีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลอาญา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด และไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียในชื่อเสียงของกรมราชทัณฑ์ จึงได้มีการเซ็นแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ โดยมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนางจิรภา สินธุนาวา ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยให้สรุปข้อเท็จจริงส่งตนภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ กรณีมีเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้องเรียนถึงการทำงานภายในกรมที่ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส ดังนั้นเพื่อให้การตรวจสอบข้อร้องเรียนหรือข้อร้องทุกข์เกี่ยวกับการบริหารงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับระเบียบแผนของทางราชการ และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างฝ่ายบริหารและบุคลากรในหน่วยงาน ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเสริมสร้างความสามัคคีในองค์กร จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมี นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายนิมิต ทัพวนานต์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ โดยให้รายงานผลภายใน 30 วัน
"กรณีนายประสิทธิ์ เป็นสิ่งที่สังคมยังเคลือบแคลงสงสัย แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้สังคมสิ้นความสงสัยได้ ผมจึงต้องตั้งคณะกรรมการอีกหนึ่งชุดเพื่อตรวจสอบเรื่องทั้งหมด ไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีก พร้อมต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีดีเอสไอ ก็มีผู้ใหญ่หลายคนแนะนำมายังผม ว่าปัญหาของกรมนี้ อาจจะมาจากการมีดีเอ็นเอมาจากหลายที่ หรือ มีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน จนอาจส่งผลเป็นการสร้างความแตกแยกขององค์กร ดังนั้นเพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ใหญ่หลายท่านแนะนำว่าต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง หรืออาจจะต้องมีแนวคิดปรับองค์กร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ถูกนำไปขยายผ่านสื่อมวลชน จนเจ้าหน้าที่ไม่มีเวลาทำงาน ต้องคอยมานั่งชี้แจงแต่ละประเด็น ทำให้ขาดโอกาสในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน" นายสมศักดิ์ กล่าว