สธ.เผยโควิดไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ยอดป่วย-ตายลดลง ส่วนตัวเลขระบาดหลังปีใหม่ รอประเมินอีก 14 วัน เตรียมเคาะมาตรการรองรับนักท่องเที่ยวจีน หลังผ่านการประชุมระดับทีมวิชาการ 5 ม.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า สัปดาห์นี้มีผู้ป่วยโควิด 19 ลดลง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยลดลงทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยที่ต้องนอน รพ. ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต โดยผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 10 ราย ลดลงจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่เฉลี่ยวันละ 15 ราย เตียงใน รพ. ต่างๆ มีมากขึ้นและได้ปรับไปรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ต่อไปตามปกติ ขณะนี้การฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ตั้งเป้าไว้ว่า สิ้นปี 2565 จะฉีดเพิ่มให้ได้ 2 ล้านโดส ตอนนี้ก็ทำได้ตามเป้าหมาย ยอดฉีดวัคซีนสะสม 145 ล้านโดสกว่าๆ แล้ว
“ปัจจุบันสถานการณ์ถือว่าดี อยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ ส่วนหลังช่วงปีใหม่ที่คนเดินทางเยอะ ทำกิจกรรมเยอะ จะต้องดูต่อไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้ โควิดเหมือนไข้หวัดใหญ่ขึ้นไปทุกที เราอยู่กับโควิดมา 4 ปีแล้ว สถานการณ์ต่างกับช่วงแรกมาก ตอนนี้ไทยเรามีกิจกรรมเยอะ นักท่องเที่ยวเยอะ ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด แต่ยังไม่มีการระบาดรุนแรง สายพันธุ์ก็ดูเหมือนจะอ่อนลงเรื่อยๆ” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่าการประชุมรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไทยถึง 6 หมื่นคน วันที่ 5 ม.ค. สธ. จะเสนอมาตรการอะไร นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565 แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย จะดูข้อมูลจากต่างประเทศที่เป็นทางการ นำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับไทยมากที่สุด ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม อยากให้ดูข้อมูลที่เป็นทางการที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้เกิดการวิตกกังวลมากเกินไป หลายๆ ประเทศก็ยังมีการติดเชื้อรายใหม่อยู่มาก ไม่ใช่เฉพาะจีน ขณะเดียวกันคนไทยก็เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น เรามีคณะทำงานติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างใกล้ชิด แต่ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป
'หมอยง'แนะตั้งการ์ดรับมือ นทท.ต่างชาติ สกัดโควิดพันธุ์ใหม่
ในวันเดียวกันนี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กYong Poovorawan ถึงประเด็นโควิด 19 และการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่า
จากการศึกษา วิเคราะห์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟา สายพันธุ์เริ่มจากอังกฤษก่อนหลายเดือน ในปลายปี 2563 และถึงแม้ว่าเราปิดบ้านปิดเมือง มีการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 14 วัน ในที่สุด สายพันธุ์นี้ก็มาระบาดในบ้านเราในเดือนมีนาคม 2564 เช่นเดียวกันกับสายพันธุ์เดลต้า จุดเริ่มต้นที่อินเดีย แล้วไประบาดในยุโรปและอเมริกา เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากการระบาดในประเทศทางตะวันตก ขณะนั้นก็มีการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ เช่นเดียวกัน
สายพันธุ์ โอมิครอน ก็เช่นเดียวกันเราเกิดหลังประเทศทางตะวันตกทั้งนั้น ขณะนี้บ้านเราเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ดังรูป ในขณะที่ยุโรปและอเมริกาได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว และขณะนี้ทางอเมริกาและตะวันตกกำลังทั่วโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่สายพันธุ์ BQ.1, BQ.1.1 ดังแสดงในรูป ซึ่งคาดว่าต่อไปของเราก็คงระบาดตามมา สายพันธุ์ดังกล่าวจะดื้อต่อภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น
ในขณะที่การระบาดในประเทศจีนขณะนี้ ยังเป็น BA.5 และลูกของ BA.5 คือ BF.7 ดังแสดงในรูป ที่มีความคล้ายคลึงกับ BA.5 ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว หรือ จีนตามหลังเรา คนไทยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะมีภูมิต้านทานต่อตัวนี้แล้วเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ประเทศจีน โดยเฉพาะถ้ามีการระบาดในผู้ป่วยจำนวนมาก โอกาสจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ก็จะเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักไว้ด้วย
จากเหตุผลตามสายพันธุ์ จะให้ตรวจหรือป้องกัน ขณะนี้เราควรป้องกันสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5 ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว
ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ประเทศต้นทางที่น่าจะตรวจ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ของเรา ควรจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีในประเทศไทย เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยให้ช้าที่สุด
อย่างไรก็ตามสายพันธุ์ทั้งหมดก็ยังเป็น โอมิครอน ที่ความรุนแรงน้อย และทั่วโลกก็ยอมรับว่า สายพันธุ์นี้ยังระบาดอยู่ทั่วโลก