ศูนย์ดนตรีพื้นบ้านเอสโตเนีย ถูกอีเมลปลอมอ้างชื่อผู้จัดการหลอกโอนเงิน 1.9 ล. พบข้อมูลอีเมลปลอมสร้างที่ไนจีเรีย แต่มีล็อกอินจากที่ไทยและสหรัฐฯด้วย ขณะอัยการเอสโตเนียรับหมดหวังตามเงินคืน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวอ้างอิงสำนักข่าว Baltic Times ของประเทศลัตเวียระบุว่าว่ามีรายงานข่าวจากสำนักข่าว Sakala ของประเทศเอสโตเนียว่าเกิดเหตุฉ้อโกงซึ่งมีต้นตอจากประเทศไนจีเรีย ส่งผลทำให้ศูนย์ดนตรีพื้นบ้านของประเทศเอสโตเนีย (Estonian Traditional Music Center) และยังเป็นผู้จัดงานเทศกาลดนตรีพื้นบ้านวิลจันดี (Viljandi Folk Music Festival) ต้องสูญเงินไปกว่า 53,000 ยูโร (1,954,672.99 บาท)
โดยอัยการของประเทศเอสโตเนียซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนเป็นระยะเวลานานกว่า 4 เดือนครึ่ง ได้ออกแถลงการณ์ผ่านสำนักอัยการระบุว่าไม่มีสิ่งใดที่สามารถทำได้ในการติดตามเงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนมา เพราะว่าเงินได้ถูกโอนย้ายไปยังประเทศที่ทางตำรวจเอสโตเนียและระบบกฎหมายของประเทศไม่มีขีดความสามารถจะติดตามเงินกลับมาได้
ทั้งนี้ศูนย์ดนตรีฯถือว่าเป็นหนึ่งในเหยื่อจำนวนนับร้อยรายของขบวนการฉ้อโกงออนไลน์ที่หลอกเงินไปเป็นจำนวนกว่านับพันยูโร โดยที่แทบจะไม่มีความหวังว่าจะติดตามเงินกลับมาได้เลย
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักอัยการระบุว่ากระบวนการนำเงินออกไปจากศูนย์ดนตรีฯนั้นเกิดขึ้นสองครั้ง ผ่านการใช้อีเมลปลอมซึ่งเป็น Gmail เพื่อดำเนินการหลอกลวงให้โอนเงิน ซึ่งรายละเอียดของอีเมลแอดเดรสปลอมฉบับนี้มีการระบุชื่อผู้จัดการของศูนย์ดนตรีฯชื่อว่านายทาร์โม นูร์มา (Tarmo Noormaa) และอีเมลแอดเดรสดังกล่าวนั้นพบว่ามีการสร้างขึ้นที่ประเทศไนจีเรีย
อย่างไรก็ตามข้อมูลการล็อกอินอีเมลแอดเดรสนี้นั้นพบว่าเกิดขี้นผ่านไอพีแอดเดรสจำนวนเก้าแห่งด้วยกัน ซึ่งที่อยู่ไอพีแอดเดรสทั้งเก้าแห่งที่ว่ามานี้อยู่ในประเทศไนจีเรีย ประเทศไทย และประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. อีเมลแอดเดรสดังกล่าวได้ส่งเมลมาหานักบัญชีของศูนย์ดนตรีฯ ร้องขอให้มีการโอนเงินกว่า 28,000 ยูโร (1,032,441 บาท) ไปยังบัญชีที่อยู่ในต่างประเทศ โดยรายละเอียดในเมลที่ถูกส่งมีการระบุแค่ประโยคสั้นๆ ระบุชื่อธนาคาร หมายเลขบัญชี และเหตุผลของการที่ต้องมีการโอนเงินเกิดขึ้น ซึ่งเส้นทางการเงินนั้นควรจะไปที่อีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ‘ซานโตส’
ทางด้านของนายทาร์โม นูร์มากล่าวว่าเท่าที่เขาจำได้ ไม่พบว่ามีรายละเอียดค่าใช้จ่ายถูกระบุอยู่ในอีเมลที่ถูกส่งมา
ขณะที่นักบัญชีที่ดำเนินการโอนเงินก็ไม่ได้ซักถามเลยถึงเหตุผลว่าทำไมต้องมีการโอนเงิน ซึ่งนายนูร์มาได้อธิบายย้อนหลังว่าการกระทำเช่นนี้ นักบัญชีได้ละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับศูนย์ดนตรีฯ ซึ่งระบุว่าจะต้องไม่มีการโอนเงินใดๆเกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีเอกสารที่ระบุเรื่องค่าใช้จ่ายแนบมากับอีเมลด้วย และใบแจ้งหนี้ทั้งหมดนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้จัดการในรูปแบบทางดิจิทัลเสียก่อนจากนั้นนักบัญชีจึงจะสามารถโอนเงินผ่านธนาคารได้
หลังจากวันที่ 14 ก.พ.ผ่านไปประมาณ 4 วัน ก็มีอีเมลอีกฉบับส่งมา โดยผ่าน Gmail ปลอมแอดเดรสเดิม โดยคราวนี้รายละเอียดในอีเมลได้มีการอ้างชื่อนายทาร์โม นูร์มา พร้อมทั้งเรียกร้องเงินอีกจำนวนกว่า 25,000 ยูโร (921,954 บาท) ซึ่งแน่นอนว่าการโอนเงินก็เกิดขึ้นอีกเช่นกัน
พอมาถึงวันที่ 22 ก.พ. ทางศูนย์ดนตรีฯก็ตรวจจับได้ว่าถูกหลอกให้โอนเงินแล้ว จึงได้มีการเลิกจ้างนักบัญชีที่ทำการโอนเงินเนื่องจากสูญเสียความไว้วางใจ และมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการการอนุมัติการโอนเงินผ่านบัญชีนาคาร ซึ่งในปัจจุบันนั้นนักบัญชีทำได้แค่เข้าสู่ขั้นตอนของการป้อนคำสั่งให้ชำระเงินเท่านั้น แต่จะไม่สามารถตัดสินใจโอนเงินเองได้ โดยผู้จัดการศูนย์ดนตรีฯจะเป็นบุคคลเดียวเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ในการโอนเงิน และนอกจากนี้ก็ยังมีการกำหนดว่าลูกจ้างของศูนย์ดนตรีฯทุกคนจะต้องผ่านการฝึกความปลอดภัยทางไซเบอร์เสียก่อน
ขณะที่แถลงการณ์จากสำนักอัยการระบุว่าเพื่อให้กระบวนการฉ้อโกงสามารถบรรลุผลไปได้ มิจฉาชีพจำเป็นต้องทำการบ้านมากมาย ทั้งการสืบทราบชื่อของผู้จัดการศูนย์ดนตรีฯ และรายละเอียดการติดต่อกับนักบัญชี รวมไปถึงการสื่อสารเพื่อหลอกให้นักบัญชีเชื่อว่าทุกอย่างเป็นเรื่องจริง
“ผมคิดว่าข้อมูลทั้งหมดที่กลุ่มมิจฉาชีพสามารถหามาได้นัน หาได้จากข้อมูลสาธารณะผ่านระบบทะเบียนพาณิชย์” นายคาอูริ ซินเกวิซิอุส (Kauri Sinkevicius) ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ประจําสํานักงานอัยการสูงสุดกล่าว
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเอสโตเนียได้มีการสอบปากคำบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีฉ้อโกงที่ศูนย์ดนตรีฯ โดยนักบัญชีนั้นถูกกันตัวไว้ให้เป็นพยาน ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเงินนั้นไปในหลายประเทศทั้งในแอฟริกา ที่ประเทศไทย รวมไปถึงที่สหรัฐฯ ทว่าเส้นทางทั้งหมดนั้นก็สลายไปไม่สามารถตามต่อได้ และในวันที่ 30 มิ.ย. สํานักงานอัยการสรุปผลการดําเนินคดี
สำนักอัยการได้มีการระบุต่อไปว่าอีเมลแอดเดรสที่ได้มีการใช้ในการฉ้อโกงนั้นเชื่อมโยงกับสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงไปถึง Gmail แอดเดรสอีกจำนวน 7 แอดแดรสด้วยกัน โดย 6 แอดเดรสนั้นพบว่ามีการสร้างขึ้นในประเทศไนจีเรีย และเชื่อมโยงไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนในประเทศไนจีเรียเป็นจำนวนหลายหมายเลข ทั้งนี้เมลแอดเดรสจำนวนหลายแอดเดรสเหล่านี้พบว่าถูกล็อกอินจากหลายที่ในประเทศไนจีเรีย และพบว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่พบว่ามีการล็อกอินจากในประเทศสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม มี Gmail แอดเดรสอีกหนึ่งแอดเดรสพบว่าถูกสร้างขึ้นในประเทศไทย
“เป็นเรื่องงน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ว่าไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลที่กระทำการฉ้อโกงตามข้อมูลที่ว่านี้ได้” นางมาร์จา-ลีนา ทาลิมาอา (Marja-Liina Talimaa) อัยการเขตกล่าว
ทางด้านของนายนอร์มากล่าวว่าการสูญเงินกว่า 53,000 ยูโรนั้นถือเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับศูนย์ดนตรีฯมากทั้งทางการเงินและทางกายภาพเพราะนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมากระทรวงศึกษาธิการเอสโตเนียก็ได้ยุติการสนับสนุนศูนย์ดนตรีฯ ส่งผลให้เงินอุดหนุนจากภาครัฐก็ลดลงเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้วิกฤติของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้ศูนย์ดนตรีฯต้องยุติการจ้างพนักงานกว่าสองในสาม
ศูนย์ดนตรีพื้นบ้านเอสโตเนีย