ตัวแทนสหภาพไรเดอร์เปิดเผยข้อสัญญาจ้างงานพร้อมวิเคราะห์ พบไม่เป็นธรรม-ไร้หลักประกันในอาชีพ-แบกต้นทุนแทนแพลตฟอร์ม-ไม่ได้สวัสดิการเท่าที่ควร วอนประชาชนและสังคมช่วยกันกดดันบริษัทให้รับข้อเสนอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหภาพไรเดอร์หรือกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มขนส่งอาหาร ระบุผ่านเฟซบุ๊ก สหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union เกี่ยวกับรายละเอียดสัญญาการจ้างงานของแพลตฟอร์มขนส่งอาหารชื่อดัง ที่มีหลายประเด็นทั้งในด้านสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การที่ไรเดอร์หรือผู้ขับขี่พาหนะเพื่อขนส่งอาหารต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของค่าตอบแทนในการทำงานจากบริษัทโดยที่ไม่ได้ยินยอม การไม่มีสวัสดิการแรงงานพื้นฐานที่ควรได้รับ เช่น ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น
มีรายละเอียด ดังนี้
ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมการปฏิบัติต่อไรเดอร์ (Treat) โดยในสัญญาของบริษัทแพลตฟอร์มระบุว่า
1. ‘โดยที่บริษัทฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริการแต่อย่างใด ทั้งไม่ได้ทําหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการ หรือให้บริการขนส่ง แมสเซ็นเจอร์ ผู้ให้บริการส่งพัสดุ ผู้ให้บริการไปรษณีย์ ผู้ให้บริการจัดส่ง ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ผลิตและจําหน่ายอาหาร และไม่ได้ดําเนินการเป็นตัวแทนของบุคคลต่างๆ ดังกล่าว’
แต่ความจริงบริษัทมีส่วนทั้งหมดในการกําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- กฏระเบียบ: บริษัทมีการบังคับให้ไรเดอร์ใส่ชุดยูนิฟอร์ม มีกฎระเบียบต่าง ๆ ไม่ต่างจากเป็นพนักงานประจําของบริษัท และมีการลงโทษหากไรเดอร์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ
- บทลงโทษ: บริษัทมีอํานาจในการบังคับใช้บทลงโทษกับไรเดอร์โดยในสัญญาไม่ได้ระบุความสัมพันธ์นายจ้างกับลูกจ้าง แต่บริษัทกลับมีอํานาจในการบังคับใช้ลงโทษกับไรเดอร์
- สภาพการทํางาน: บริษัทมีอํานาจกําหนดเงื่อนไข และสภาพการทํางานทั้งหมด เช่น ค่าตอบแทน การเห็นงาน Incentive ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้บริษัทกำหนดโดยฝ่ายเดียว และบ่อยครั้งที่การปรับเปลี่ยนสภาพการทํางานจบลงโดยละเมิดไรเดอร์ที่ไม่ได้ยินยอมในสภาพการทำงานนั้น
2. ‘พนักงานจัดส่งเข้าใจและยอมรับว่าการเลือก ไม่รับข้อความ/การแจ้งเตือนอาจมีผลต่อการใช้งานแอปพลิเคชั่นตามปกติของพนักงานจัดส่ง’
การแจ้งเตือนข่าวสารของบริษัทแพลตฟอร์มไม่เปิดโอกาสให้ไรเดอร์ยอมรับในการแจ้งเตือนของบริษัท โดยบริษัทแพลตฟอร์มมักใช่ช่องทางนี้แจ้งเตือนการปรับเปลี่ยน สภาพการทํางาน ค่ารอบ กฎระเบียบ incentive โดยที่ไรเดอร์ไม่ได้ยินยอมในการแจ้งเตือน หลายครั้งไรเดอร์ต้องยอมรับสภาพการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเหล่านั้น โดยไม่มีส่วนกําหนดหรือยินยอม
3. ‘บริษัทฯ สงวนสิทธิที่จะระงับชั่วคราว หรือถาวร และ/หรือ ยกเลิกบัญชีพนักงานจัดส่งในเวลาใดก็ได้ ทั้งนี้ การฝ่าฝืนข้อกําหนดในการให้บริการอาจนําไปสู่การที่บริษัทฯ ดําเนินการระงับชั่วคราว และ/หรือ ยกเลิกบัญชีพนักงานจัดส่งของท่าน’
จากกฎข้างต้นพบว่าไรเดอร์ถูกละเมิดในประเด็นดังนี้
- ระงับสัญญาโดยไม่เป็นธรรม (ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม)
- ไร้หลักประกันในอาชีพ (บนเงื่อนไขที่บริษัทมีอํานาจเหนือกว่า)
- เลิกจ้างไรเดอร์ได้ทุกเวลา (ระงับสัญญาถาวร)
- ไรเดอร์ถูกละเมิดสัญญาปรับเปลี่ยนสภาพการทํางาน โดยที่ไรเดอร์ไม่ให้ความยินยอม
- ถูกปรับลดค่ารอบ (โดยไรเดอร์ไม่ให้ความยินยอม)
- ความเสี่ยงสูงเพราะแบกรับต้นทุนแทนบริษัท ได้แก่ ค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ค่าอาหาร ค่าความเสี่ยง
ความเสี่ยงที่ไรเดอร์เผชิญ
- 39% เสี่ยงประสบอุบัติเหตุระหว่างทํางาน นโยบายบริษัทกําหนดต่าง ๆ เช่น ลดค่ารอบ incentive งานแบซหรืองานหลายคำสั่งซื้อ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทําให้ไรเดอร์เร่งทํารอบ ทําให้เกิดความเสี่ยงต่อไรเดอร์ที่จะประสบอุบัติเหตุมากยิ่งขึ้นโดยไม่มีสวัสดิการประกันอุบัติเหตุมารองรับไรเดอร์
- 33% เสี่ยงเจ็บป่วยจากการทํางานไรเดอร์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากมลภาวะบนท้องถนนและฝุ่นควันมากกว่าปกติ ทําให้ไรเดอร์มีปัจจัยความเสี่ยงจากโรคทางเดินหายใจและสะสมปัจจัยความเสี่ยงมากขึ้นจากการทํางานในแต่ละวัน
- 100% ไม่มีหลักประกันสุขภาพจากบริษัท
- 100% ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ
พาร์ทเนอร์คำที่ ‘หลบเลี่ยง’ สวัสดิการ
1. หลบเลี่ยงความรับผิดชอบการให้สวัสดิการแก่ไรเดอร์ เนื่องจากบริษัทรับสมัครไรเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก นี่คือต้นทุนสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถรับไรเดอร์ใหม่ ๆ เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นผลดีต่อไรเดอร์เก่า เนื่องจากจำนวนงานที่จำกัด ทำให้จำนวนไรเดอร์มากกว่าจำนวนงาน (Over Supply) ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัท แต่ไรเดอร์กลับไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายรับคนใหม่ ๆ เข้ามา
2. บริษัทผูกสวัสดิการไว้กับจำนวนงาน ทำให้ไรเดอร์ต้องเร่งทำรอบเสี่ยงก่อน เจ็บก่อน ถึงจะได้รับสวัสดิการ แต่ในความเป็นจริง เงื่อนไขนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนไรเดอร์ยิ่งบริษัทมีไรเดอร์ในมือมากเท่าไหร่ จำนวนไรเดอร์จะถูกหารด้วยจำนวนรอบของเงื่อนไขสวัสดิการที่ตั้งไว้ พูดง่าย ๆ คือ ยิ่งรับไรเดอร์มากเท่าไหร่ บริษัทแทบไม่ต้องให้สวัสดิการอะไรเลย
3. หยิบยืมเงินไรเดอร์ลงทุนโดยออกนโยบายให้ไรเดอร์สำรองเงินจ่ายค่าอาหารให้ลูกค้าก่อน การแบกรับความเสี่ยงแทนบริษัทบนนโยบายนี้ ทำให้ไรเดอร์ถูกผูกติดกับพฤติกรรมของลูกค้าโดยทันที
4. เลิกจ้างไรเดอร์โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างสามารถฟ้องร้องได้ในกรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แต่ไรเดอร์ไม่อยู่ในเงื่อนไขนี้ ไรเดอร์จึงสูญเสียสิทธิไปโดยปริยาย และทำให้ไรเดอร์จำนวนมากถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจากบริษัทแพลตฟอร์ม
5. คำว่า ‘พาร์ทเนอร์’ ทำให้บริษัทสามารถถ่ายโอนต้นทุน ทั้งค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ค่าโทรศัพท์ และปฏิเสธสิ่งที่ไรเดอร์ควรได้รับทั้งหมด และบริษัทยังได้รับประโยชน์จากการรับสมัครไรเดอร์คนใหม่ๆ เข้ามาโดยการขายอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานเช่น กล่อง เสื้อ ถ้าไรเดอร์ไม่ซื้ออุปกรณ์จากบริษัท บริษัทจะไม่เปิดระบบให้ไรเดอร์ได้ทำงาน
6. ขูดรีดกำลังแรงงานได้มากกว่าปกติ เช่น นโยบาย ลดค่ารอบ incentive งานแบซ คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการขูดรีดกำลังแรงงาน โดยวิธีการนี้มีศัพท์ว่า Hook โดยดึงไรเดอร์ด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติในช่วงแรก แต่พอไรเดอร์ติดกับดักแล้วก็ค่อยๆ ลดค่ารอบไรเดอร์ลงเรื่อยๆ ไรเดอร์ต้องใช้เวลาในการทำงานที่มากขึ้น ในขณะที่ค่าตอบแทนลดลง
ทั้งนี้สหภาพไรเดอร์ยังระบุอีกว่าสัญญาของบริษัทแพลตฟอร์มล้วนละเมิดหลักการของ ILO ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้ง อีกทั้งรัฐไทยปฎิเสธการรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยฉบับที่ 87 พูดถึงการรวมตัวของคนทำงาน และฉบับที่ 98 พูดถึงการเจรจาต่อรองร่วม โดยรัฐไทยให้เหตุผลในการเรื่องความมั่นคง ดังนั้นการรวมตัวเจรจาต่อรองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวทุกคนมีตั้งแต่เกิดไม่มีใครสามารถมาจำกัดสิทธิของเราได้
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 นายอนุกูล ราชกุณา ไรเดอร์จากแพลตฟอร์มขนส่งอาหารแห่งหนึ่ง และเป็นผู้ดูแล (Admin) เพจเฟซบุ๊กสหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสำนักอิศราว่า ปัจจุบันมีไรเดอร์ในระบบทั้งหมดเกือบหนึ่งล้านคน โดยที่การทำงานของไรเดอร์เกือบล้านคนเหล่านี้ไม่มีหลักประกันในชีวิต ไม่มีความมั่นคง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันสหภาพไรเดอร์ก็พยายามรวบรวมไรเดอร์จากทุกพื้นที่ให้รวมกลุ่มกัน เพื่อต่อสู้กับบริษัทแพลตฟอร์ม เนื่องจากมองว่าบริษัทแพลตฟอร์มจะมีการควบรวมกิจการแล้วดำเนินกิจการแบบผูกขาด เพราะมีข่าวว่าจะมีบริษัทขนส่งอาหารแห่งหนึ่งกำลังจะเข้าซื้อกิจการของแพลตฟอร์มขนส่งอาหารอีกเจ้าหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ไรเดอร์มีจำนวนเกินความต้องการของตลาด (Over supply) สามารถยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ สมมติในจังหวัดจันทบุรีมีไรเดอร์ของบริษัทแรกและไรเดอร์ของแพลตฟอร์มที่จะถูกซื้อกิจการทำงานในพื้นที่ แต่ต่อมามีการควบรวมกิจการก็จะทำให้ไรเดอร์บางส่วนถูกปลดทันที ทำให้ไรเดอร์ตกงานมากขึ้น
“เราก็เรียกร้องในเรื่องสวัสดิการ ค่ารอบ ให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้แพลตฟอร์มก็อาศัยข้ออ้างในการแข่งขันที่มันเข้มข้นมาปรับลดค่ารอบของไรเดอร์” นายอนุกูลกล่าว
ทั้งนี้นายอนุกูลกล่าวอีกว่า ทางภาคประชาชนและสังคมสามารถช่วยเหลือสหภาพไรเดอร์ได้ในด้านการช่วยกันกดดันบริษัทแพลตฟอร์ม ให้บริษัทมอบสวัสดิการหรือแก้ไขสัญญากับไรเดอร์ให้เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากบริษัทแพลตฟอร์มใช้ช่องว่างของกฎหมายละเมิดสิทธิของไรเดอร์