เผยมติ ศาลรธน.เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ชี้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริต ม. 46 ขัดรธน. ให้อัยการสูงสุดรับรองฎีกาเฉพาะพนง.อัยการ-สิทธิราษฎร ไม่เท่าเทียม พร้อมกำหนดให้คำวินิจฉัยมีผลหลัง 360 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี กรณีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 46 วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก ศาลฎีกาส่งคำโต้แย้งของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ อท. 63/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 5538/2564 นายวิทยา ศุภศิริโภคา (อดีตนายกเทศมนตรีตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มาตรา 151 จากกรณีเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนในการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงิน และลงนามในใบถอนเงิน/เช็ค ธนาคารเพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างเหมา โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก และรื้อถอนสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเก่า)
โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 46 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ในกรณีที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ให้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญและให้ศาลฎีการับฎีกา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และกำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลเมื่อพ้น 360 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่า กรณีวิ.ทุจริตฯ ม.46 วรรคสี่ ขัดรธน. ม.27 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีโจทก์ฟ้อง ผู้พิพากษา ป.อ. ม.157 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ยืน โจทก์ร้องขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาตามวิ.ทุจริตฯ ม.46 วรรคสี่ แต่กฎหมายบัญญัติให้อัยการสูงสุดรับรองได้เฉพาะฎีกาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ไม่ได้ให้รับรองคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์หรือคดีที่จำเลยฎีกา
ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าบทบัญญัติของวิ.อาญาคดีทุจริตฯ ม.46 วรรคสี่ ขัดรัฐธรรมนูญฯ ม.27 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นทำให้สิทธิเสรีภาพของพนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ กับราษฎรที่เป็นโจทก์และจำเลยในการขออนุญาตฎีกาคดีทุจริตฯ ไม่เท่าเทียมกัน
"ส่วนกรณีที่อัยการสูงสุดสามารถรับรองให้ฎีกาคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์หรือคดีที่จำเลยฎีกา จะมีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติอะไรตามมาในอนาคตหรือไม่ คงต้องคอยติดตามดูกันต่อไป" แหล่งข่าวระบุ