วงเสวนาชี้ ‘สื่อไทย’ ต้องเน้นทำคอนเทนต์คุณภาพ ไม่ต้องสนใจยอดการเข้าถึง และวิเคราะห์จุดแข็งของตนเอง และกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ สื่อยุคนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง แต่ควรทำเรื่องที่น่าสนใจ ชำนาญ และลึกมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประกาศผลรางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 โดยในงานได้จัดเสวนาหัวข้อ ‘2023 แพลตฟอร์มเปลี่ยนโลก สื่อปรับใหญ่ คนไทยจะรู้เท่าทันสื่ออย่างไร?’
โดยนายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มมีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างมาก ส่งผลให้สื่อมวลชนต้องปรับตัวกันตลอดเวลาในปีที่ผ่านมามีจำนวนคอนเทนต์มากเกินไป ทำให้ผู้ชมเลือกที่จะชม ดังนั้นในอนาคตสื่อมวลชนต้องมองหาคอนเทนต์มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ และในปี 2023 จะยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้งด้วย โดยเน้นคอนเทนต์คุณภาพมากกว่าการใช้ Search Engine Optimization (SEO) ที่เน้นการใช้หัวข้อแตะตามากกว่า
นายระวี กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสพสื่อนั้นในปี 2023 สื่อมวลชนจะต้องรู้กลุ่มผู้ชม ความสนใจของผู้ชมและต้องสนใจเชิงลึกในประเด็นต่าง ๆที่ผู้ชมสนใจ เช่น ในกลุ่มคน Generation Z จะสนใจประเด็นเชิงลึกและมองในอนาคตมากขึ้น อาทิ การเปลี่ยนแปลงของโลก,การเงินและค่าใช้จ่าย,ความรุนแรงและความไม่เท่าเทียม,และสุขภาพจิต
นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร Workpoint Today กล่าวว่า รู้สึกดีกับการทำงานในปีนี้โดยเป็นปีที่สร้างบ้านที่ดีให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ และคิดว่าคนเราไม่ได้แยกแยะว่ากำลังเสพอะไรอยู่แพลตฟอร์มนำเสนออะไรมา เราก็เสพ ถ้าเสพอะไรที่ได้สาระเขาก็จะได้สาระ กลับมาที่ปีนี้ สื่อใหญ่ ๆลงมาทำออนไลน์มากขึ้น เช่น ดารามาทำยูทูปสัมภาษณ์กันเอง ถ้ามองในแง่ลบเราจะอยู่ยังไงตายกันหมดแน่ แต่ถ้ามองในแง่ดีสิ่งนี้ทำให้มองเห็นถึงความจำเป็นของสื่อสารมวลชน เพราะสิ่งที่สื่อมวลชนทำ คือทำข่าวเชิงวิเคราะห์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับเงินเดือนมาเพื่อเรียนรู้ และลงมือทำ แต่สิ่งที่พบกับสื่อมวลชนไทยเก่งมากเรื่องการทำงานป้อนแพลตฟอร์ม ซึ่งในปีหลัง ๆ สื่อมวลชนแข่งกันทำคอนเทนต์ที่เน้นทำยอดการเข้าถึง ดังนั้นเราควรถอยออกมา กลับมาเป็นสื่อมวลชนที่ดี ต้องเน้นทำคอนเทนต์ที่มีคุณค่า ไม่ต้องสนใจยอดการเข้าถึง
นายนภพัฒน์จักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ปัญหาของผู้บริหารคือแย่งคนเก่งมาทำงาน หาเงินเข้าองค์กรและทำงานเชิงคุณภาพ ซึ่งควรกลับมาและเริ่มต้นเป็นคนตั้งประเด็นข่าวสารหลัก แทนที่จะเป็นคนที่ตามประเด็นไป และทำโดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องยอดการเข้าถึง ให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆซึ่งส่งผลให้นักข่าวและสังคมได้ประโยชน์ร่วมกัน
ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจําคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ ไม่ค้นหาข้อมูลจาก Search Engine แต่ไปหาบนแพลตฟอร์ม เช่น TikTok เป็นต้น และเขามีความสนใจที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และจากสำรวจพบว่าคนไทยยังให้ความน่าเชื่อถือกับข่าวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสื่อมวลชนไม่ได้นำเสนอประเด็นและหาทางแก้ไขปัญหาให้จึงอยากให้สื่อทำงานแบบ Solution Journalist ให้ชัดเจนมากขึ้น
"อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนในยุคนี้ เราไม่ได้มีข้อมูลผู้รับสารแบบละเอียด จึงมีความท้าทายอย่างมาก ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูล หรือกระบวนการทำงาน ซึ่งสุดท้ายสื่อมวลชนต้องวิเคราะห์จุดแข็งของตนเอง และกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ สำนักข่าวยุคนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง แต่ควรทำเรื่องที่น่าสนใจ ชำนาญ และลึกมากขึ้น เพื่อผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ" ผศ.สกุลศรี ระบุ
นางสาวพัชรพร พงศ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนสื่อฯ พบว่าผู้ขอทุนขณะนี้เน้นให้ความสนใจในการขอทุนรูปแบบสื่อออฟไลน์ผสมกับออนไลน์มากยิ่งขึ้น แต่ด้วยการปรับตัวของแพลตฟอร์มที่มีมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้รับทุนปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้ไม่เข้าใจในภูมิทัศน์สื่อ และส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว กองทุนสื่อจึงจะพัฒนาความร่วมือกับองค์กรต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวทิ้งท้ายโดยการเชิญชวนให้สื่อมวลชนมาเข้าร่วมกับสมาคมฯ เพราะจะทำให้สื่อมวลชนมีอำนาจต่อรองกับรัฐมากขึ้น