ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัด ยื่น 'ตรีนุช' ค้านคำสั่งยุบเลิก ศธจ. หวั่น 4 พันกว่ารายชื่อถูกลอยแพ จี้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เข้าพบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอทบทวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ในมาตรา 3 (10) ที่ให้ยกเลิกศึกษาธิการจังหวัดฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร
นายณัทชัย ใจเย็น ตัวแทนศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวประกาศใช้โดยไม่มีการทบทวนในประเด็นนี้ จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการยุบเลิกหน่งาน ศธจ. ทั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่นและพนักงานลูกจ้างกว่า 3,000 คน ซึ่งจะไม่สามารถปฎิบัติงานราชการได้อีกต่อไป โดยจะมีผลกระทบต่อการงานทำงานในพื้นที่อย่างมาก เช่น โรงเรียนเอกชนที่ ศธจ. ดูแลอยู่จะต้องหยุดชะงักทันที การจัดการศึกษาทางเลือกที่ต้องได้รับการอนุมัติจาก กศจ. รวมถึงงานวิชาการที่ต้องส่งเสริมคุณภาพการศึกษา เป็นต้น
อีกทั้งการแยกงานบริหารบุคคลออกจาก กศจ. ไปอยู่ที่เขตพื้นที่ก็จะทำให้องค์ประกอบของ อกคศ. เขตพื้นที่ไม่มีผู้แทน กศจ. เข้าไปเป็นกรรมการด้วยทำให้ทำหน้าที่ได้ไม่ครบ ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและการเลื่อนขั้นเงินเดือนด้วย ทั้งนี้ พวกเราจะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ กมธ.วิสามัญฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
“พวกเรามีรายชื่อมีการคัดค้านคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งหมด 4,437 คน และรู้สึกกังวลใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมากว่าอาจจะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบ เพราะสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงต้องมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่านค้าน แต่สุดท้ายเชื่อมั่น รมว.ศึกษาธิการ ที่จะดำเนินการประสานเรื่องนี้ให้มีการทบทวนเกิดขึ้น” นายณัทชัย กล่าว
นายณัทชัย กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจในตัวรัฐมนตรีว่าการศธ. แต่ยังกังวล เพราะการเมืองยังไม่มีความแน่นอน จากนี้ตัวแทนศธจ.เตรียมยื่นหนังสือ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการยกร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และให้การทำงานในพื้นที่สามารถทำงานต่อไปได้ โดยมีผู้ร่วมลงชื่อขอให้แก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว กว่า 4,437 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการ บุคากรศธจ. ศธภ. ลูกจ้าง และบุคาลกรครูโรงเรียนเอกชน ฯลฯ
ทั้งนี้ หากร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ประกาศใช้ โดยที่ยังไม่ยกเลิก มาตรา 3(10) จะส่งผลให้ศธจ.และศธภ.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ตามกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ให้อำนาจถูกยกเลิก กระทบต่อการทำงานในพื้นที่ กศจ. จะไม่สามารถอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ การจัดการศึกษาในรูปแบบโฮมสคูล ที่ให้อำนาจกศจ.ในการอนุมัติ จะหยุดชะงักทันที รวมถึงงานที่ได้ทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ก็จะต้องยุติ ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เนื่องขาดองค์ประกอบหลัก คือ ผู้แทนจากกศจ. ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนวิทยฐานะต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ
ทางด้าน น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ถือเป็นกฎหมายสำคัญ เหมือนเป็นธรรนูญของการศึกษา รัฐบาลใช้เวลากว่า 5 ปีในการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกัน จนถึงจุดที่เห็นว่า ต้องมีการทบทวน โดย ศธ. ถือเป็นหน่วยปฏิบัติ ซึ่งมีหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ประกอบกับได้รับเสียงสะท้อน จากหลายหน่วยงาน รวมถึงศธจ. และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่มีข้อกังวล บางมาตราที่อาจส่งผลกระทบให้บางหน่วยงานอาจจะถูกยุบ ทำให้การบูรณาการงานในพื้นที่มีปัญหา เช่น ในวันนี้ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด ก็ได้มานำเสนอให้เห็นว่า ในมาตรา 3 การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการยกเลิกศึกษาธิการจังหวัด ยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และถ้าหากยุบเลิก จะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาคทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของ ศธ. เห็นว่า ยังจำเป็นต้องมีหน่วยงานนี้อยู่ เพื่อเป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด และในภูมิภาค
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ ก็ได้มานำเสนอให้ตนทราบว่า ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ต่อไปจะไม่มีเงินวิทยฐานะให้แก่กลุ่มดังกล่าว ซึ่ง ศธ. เห็นว่าจำเป็นที่ต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้ทุกคนได้คงสิทธิตามเดิม พร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่จำเป็นต้องปรับปรุง เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ทุกโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งหมายรวมถึงโรงเรียนของรัฐทุกประเภทที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด ศธ. ด้วย เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เชิญผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อเป็นเสียงสะท้อนต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่ง สกศ. จะรวมรวบข้อคิดเห็น โดยจะมีการนำข้อเรียกร้องของ ศธจ. ในวันนี้มาวิเคราะห์เข้าไว้ด้วย เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อไป