สปสช.-สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้แจงสิทธิผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง เผย 5 ปี ได้รับร้องเรียนกว่า 3,329 เรื่อง รวมกว่า 35.7 ล้านบาท ย้ำหากถูกเรียกเก็บค่ารักษาอย่าเพิ่งจ่าย แนะให้สอบถามก่อน
สำนักข่าอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าว สปสช. จับมือ สภาองค์กรของผู้บริโภคแก้ปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษา 'ถูกเรียกเก็บเพิ่ม ไม่ต้องจ่าย สิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน' เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ในกรณีที่เป็นการเข้ารับบริการภายใต้สิทธิประโยชน์และขอบเขตบริการ หน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคและอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. กล่าวว่า บริการสุขภาพเป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทที่มีกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะกรณีเรียกเก็บค่าบริการจากบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เฉพาะข้อมูลปี 2565 มีจำนวนสูงถึง 48 เรื่อง
คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงจัดทำแผนขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ทั้งการถูกเรียกเก็บเงินจากใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตรวจทางห้องปฏิบัติการและเวชภัณฑ์ บริการนอกเวลาราชการ และบริการอื่นที่เป็นสิทธิประโชน์ เนื่องจากเป็นการเรียกเก็บเงินทั้งที่เป็นสิทธิประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หน่วยบริการไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ เพราะจะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและก่อวิกฤตทางการเงินให้ผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 สภาฯ มีหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ขอให้จัดการปัญหานี้ และควรเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาในเชิงระบบ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยและให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของหน่วยบริการในระบบบัตรทอง 30 บาท
“มีหลายกรณีที่ร้องเรียน เช่น กรณีหญิงตั้งครรภ์เข้ารับการตรวจครรภ์ที่ รพ.แห่งหนึ่ง โดย รพ.ต้นสังกัดส่งต่อ ซึ่งแพทย์ตรวจพบปากมดลูกเปิด ต้องให้รักษาตัวใน รพ. แต่กลับถูกเรียกเก็บค่ารักษาเป็นจำนวน 12,595.50 บาท ทั้งที่ รพ.สามารถเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้ ด้วยเป็นสิทธิส่งต่อ และกรณีหญิงอายุ 74 ปี สิทธิบัตรทองแต่มีสิทธิย่อยคนพิการ ถูกเรียกเก็บค่าบริการ 42,529.25 บาท ทั้งที่เป็นผู้มีสิทธิตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการใช้สิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขของทหารผ่านศึกและคนพิการ พ.ศ. 2556 ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขมีคำสั่งให้คืนเงินผู้ป่วย” น.ส.สารี กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีหญิงอายุ 72 ปี เข้ารักษาฉุกเฉินด้วยอาการปวดหลังมาก หายใจไม่สะดวก จุกแน่นลิ้นปี่และใต้ราวนมใน รพ.แห่งหนึ่ง ต่อมาแพทย์วินิจฉัยพบเป็นภาวะนิ่วในถุงน้ำดี เบื้องต้นผู้ร้องเรียนแจ้งใช้สิทธิชำระเงินเอง เนื่องจากไม่ทราบว่าสามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ และทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม่ได้ให้ข้อมูลว่าสามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ แต่ต่อมาเมื่อผู้ป่วยทราบว่าสามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะขอใช้สิทธิ แต่เจ้าหน้าที่ รพ. ไม่แก้ไขเอกสารให้ โดยให้เซ็นปฏิเสธใช้สิทธิ ถูกเรียกเก็บค่ารักษาจำนวน 56,039.50 บาท เมื่อเรื่องเข้าสู่การคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขมีคำสั่งให้คืนเงินผู้ป่วยเนื่องจากกรณีนี้สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีสิทธิเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลดังกล่าวได้
ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาของผู้ให้บริการ ต้องไม่ใช่เป็นการเรียกเก็บเงินกับคนไข้ แต่ต้องมาหารือกับทางสปสช.ว่าบริการใดไม่สามารถให้บริการได้ หรือมีปัญหาอะไร จากข้อมูลเรื่องร้องเรียน กรณีถูกเรียกเก็บเงิน ใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) จะเห็นภาพว่ามีการเรียกเก็บเงิน 3,329 เรื่อง โดยเฉลี่ยปีละ 500-1,000 เรื่อง ซึ่งเรื่องส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขต 13 หรือคนกทม. มีเรื่องร้องเรียน 1,956 เรื่อง
สำหรับกลุ่มอาการโรค พบว่า โรคระบบย่อยอาหารรวมโรคในช่องปาก มีการร้องเรียนมากสุด 259 เรื่อง การบาดเจ็บ อุบัติเหตุต่างๆ 221 เรื่อง การติดเชื้อโรคโควิด 199 เรื่อง โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ 185 เรื่อง และ โรคระบบหายใจ 179 เรื่อง
โดยโรคและอาการที่ถูกเรียกเก็บเงินมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคระบบย่อยอาหาร/โรคในช่องปาก บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ติดเชื้อโควิด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ ขณะที่ 5 รายการแรกของบริการที่ถูกเรียกเก็บมากที่สุด คือ บริการรักษาพยาบาล/ยาในบัญชี/ทำแผล, บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค, ตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยา, อวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาและค่าบริการอื่นๆ ส่วนเหตุผลของการถูกเรียกเก็บค่าบริการ เช่น เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นนโยบายของ รพ., บริการที่ใช้เบิกไม่ได้, ไม่ทราบว่าใช้สิทธิการรักษาได้, ผู้ร้องเรียนไม่แจ้งใช้สิทธิ ไม่พกบัตรประชาชนและยานอกบัญชี เป็นต้น
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ปัญหานี้ สปสช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาโดยนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. และมอบให้คณะอนุกรรมการฯ ชุดที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารกองทุน คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วม และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน
รวมถึงการพิจารณาโดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน โดยปีที่ผ่านมาได้ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 เพื่อปรับปรุงประกาศฉบับเดิม ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น ครอบคลุมสิทธิประโยชน์บริการ 13 รายการที่เบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนบัตรทองที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บเพิ่มได้
พร้อมจัดทำ “คู่มือ Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้ เพื่อสื่อสารไปยังหน่วยบริการในระบบให้เกิดความชัดเจน พร้อมกับปี 2566 ได้มีการจัดทำแผน กำกับติดตาม พร้อมกำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการมีกลไกเฝ้าระวังติดตามและแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จตามเป้าหมายต่อไป
“ตามกฎหมายกองทุนบัตรทอง เรื่องการเรียกเก็บค่ารักษาจากประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือ Extra billing ไม่สามารถให้หน่วยบริการทำได้ เพราะจะทำให้ประชาชนประสบปัญหาหรือเกิดอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการสาธารณสุข ทั้งยังอาจก่อให้เกิดวิกฤตทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยและครอบครัว แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้หน่วยบริการเรียบเก็บ Extra billing ในระบบหลักประกันสุขภาพเช่นกัน” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
ทั้งนี้ ขอย้ำว่าสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง ทุกครั้งที่ท่านไปใช้บริการตามสิทธิขอให้นำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อยืนยันตัวตนในการเข้ารับการรักษาหรือใช้บริการ กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชนให้ใช้สำเนาสูติบัตรหรือใบเกิดแทน
หากผู้มีสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ประสบปัญหาถูกสถานพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลขณะใช้บริการตามสิทธิบัตรทอง อย่าเพิ่งจ่ายค่ารักษา ขอให้โทร.มาที่สายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่จะให้ข้อมูลและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป