ครม.เห็นชอบ ‘แผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตฯ’ ระยะ 5 ปี เดินหน้า 605 โครงการ 3.7 พันล้าน ตั้งเป้าปี 66 ดัชนีการรับรู้การทุจริต ต้องไม่เกินอันดับที่ 53 ส่วนปี 70 ต้องไม่เกินอันดับที่ 43
.....................................
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ พร้อมทั้งเห็นชอบโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯฉบับดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 605 โครงการ วงเงินรวม 3,748.70 ล้านบาท
สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 กำหนดเป้าหมายไว้ 2 ระดับ คือ
1.เป้าหมายภาพรวม คือ กำหนด “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส อัตราการเกิดคดีทุจริตมีแนวโน้มลดลง ประชาชนมีทัศนคติที่ไม่ยอมรับการทุจริต และมีผลการประเมินคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) ที่สูงขึ้น
โดยมีตัวชี้วัดภาพรวมที่กำหนดไว้ ดังนี้ ปี 2566 CPI ของประเทศไทย อยู่ในอับดับ 1 ใน 53 และหรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 51 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 84
ส่วนในปีต่อๆไป ตั้งเป้าไว้ คือ ปี 2567 CPI ติดอันดับ 1 ใน 51 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 53 คะแนน ,ปี 2568 CPI ติดอันดับ 1 ใน 48 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 55 คะแนน ,ปี 2569 ติดอับดันดับ 1 ใน 45 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 56 คะแนน และปี 2570 CPI ติดอับดับ 1 ใน 43 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 57 คะแนน
ขณะที่แนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายภาพรวม อาทิ การผลักดันเพื่อยกระดับคะแนน CPI และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนของการอนุญาต
2.เป้าหมายย่อย ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย มี 9 ตัวชี้วัด ดังนี้
1.แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ มี 2 เป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และคดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง โดยมี 7 ตัวชี้วัด เช่น ร้อยละของเด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ในปี 2566 ต้องได้ 80% , ร้อยละของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA ในปี 2566 ต้องอยู่ที่ 84% และจำนวนคดีทุจริตในภาพรวมลดลง โดยปี 2566 จำนวนคดีทุจริตฯต้องลดลง 10% เป็นต้น
2.แผนย่อยการปราบปรามการทุจริต มีเป้าหมาย คือ การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ มี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ กระบวนการดำเนินคดีทุจริตที่จำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาเกินกว่ากรอบเวลาปกติที่กฎหมายกาหนด ไม่เกิน 20% และจำนวนคดีอาญาที่หน่วยงานไต่สวนคดีทุจริตถูกฟ้องกลับ ไม่เกิน 3% ของจำนวนคดีที่ส่งฟ้อง
ส่วนการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย เช่น การปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสานึก ให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต ,การป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตฯ ระยะที่ 2 จะมีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการ จำนวน 605 โครงการ วงเงิน 3,748.70 ล้านบาท แบ่งเป็นเป้าหมายที่ 1 ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต 331 โครงการ 2,752.01 ล้านบาท เป้าหมายที่ 2 คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง 162 โครงการ 684.84 ล้านบาท และเป้าหมายที่ 3 การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ 112 โครงการ 311.85 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการฯจะมีจากงบประมาณภายใต้แผนงงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และงบดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน
รายงานว่าแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) โดยในปี 2564 อันดับ CPI ของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 110 ด้วยคะแนน 35 คะแนน ลดลงจากปี 2563 ที่ติดอันดับ 104 ด้วยคะแนน 36 คะแนน
อ่านประกอบ :
- บทวิเคราะห์ ป.ป.ช.เหตุ CPI ไทยอันดับตก แนะแก้ปัญหาจริงจัง โดยเฉพาะ จนท.รัฐเรียกรับสินบน
- อันดับตก! ดัชนีรับรู้ทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนน อยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก
- เบื้องหลังไทยร่วง 6 อันดับ CPI ปี 64 ปัญหาจัดซื้อช่วงโควิด-ห่วงแก้การเมืองมากกว่าทุจริต